ดร. คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่งานวิจัยพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ นี้ได้สำเร็จและพร้อมในการถ่ายทอดให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิตและการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากทั่วโลก เพราะพลาลสติกธรรมดาที่ย่อยสลายไม่ได้ เมื่อถูกนำไปทิ้งก็มีปัญหากับสิ่งแวดล้อมแม้ว่าจะนำมา recycle ได้ก็ตามแต่ก็นำมาใช้ได้น้อย ตัวอย่าง เช่นกองขยะฝังกลบ เมื่อผ่านไปหลายๆปี ส่วนที่ย่อยสลายได้ก็หายไปยุบไปเป็นดินสารอินทรีย์ แต่เหลือเศษพลาสติก ถุงพลาสติก เต็มไปหมด
ทั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ นักวิจัยของเอ็มเทค คือ ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย ได้ทำการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จนสามารถหาสูตรที่เหมาะสมของการใช้สารตั้งต้นที่เป็น PLA หรือ สารที่มีคุณสมบัติที่มีราคาแพง ร่วมกับ แป้งมันสำปะหลัง และแคลเซี่ยมคาร์บอเนต ที่มีราคาถูกมีคุณสมบัติต่างกัน มีราคาต้นทุนต่างกัน ซึ่งผู้ผลิตสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการผลิตได้
จากสิ่งประดิษฐ์ของเอ็มเทค ก็ได้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคือ คุณสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ที่เป็นทั้งนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกพลาสติกรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งในวันนี้ก็จะมาร่วมกับเอ็มเทค ในการทดสอบสูตรต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมทางเทคโนโลยีการผลิตมากน้อยเพียงใด เมื่อนำไปผลิตเป็นถุงหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ
การยืนยันความสามารถการย่อยสลายทางชีวภาพ ก็มีความสำคัญซึ่งต้องได้รับการทดสอบตามมาตรฐานสากล แห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทยที่สามารถให้การรับรองผลการย่อยสลายได้ การทำงานที่ครบวงจรเช่นนี้เองจึงจะทำให้ สิ่งประดิษฐ์กลายเป็นนวัตกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ในตลาด และสร้างผลกระทบชั้นเชิง เศรษฐกิจ เชิงสังคม และที่สำคัญคือ ยังเป็นการแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม ให้กับธรรมชาติของเราอีกด้วย
รองศาสตรจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า ความสำเร็จงานวิจัย “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิต ที่สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยวัตถุดิบหลักคือ แป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์การเกษตรของประเทศ
นอกจากนี้ เอ็มเทค ขอเปิดตัวห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุแห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่าเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของพลาสติกตามมาตรฐานสากลเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ สามารถทำการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 5338-03 และ ISO 148550-04 และดัดแปลงสำหรับการทดสอบมาตรฐาน ISO 14851-04 และ ISO 14855-04 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับสำหรับใช้ทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของพลาสติกภายใต้สภาวะแวดล้อมต่างๆ และกำลังดำเนินการขอรับรองมาตรฐานมาตรฐาน ISO 17015 ซึ่งคาดว่าจะได้รับประมาณปลายปี 2554 หลังจากได้รับการรับรองแล้ว ห้องปฏิบัติการจะเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ เอ็มเทค พร้อมรับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถใช้บริการและร่วมวิจัย พัฒนาด้านพลาสติกย่อยสลายได้ต่อไป เพื่อลดการนำเข้า พัฒนาด้านพลาสติกย่อยสลายได้ต่อไป เพื่อลดการนำเข้า เพิ่มประโยชน์และมูลค่าวัตถุดิบจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปที่ไม่ย่อยสลาย ลดการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกและมุ่งสู่เป้าหมายในการเพิ่มความเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนของวัสดุที่ได้รับพัฒนาขึ้นต่อไป
ผู้เขียนข่าว นาย นที ใจดี
นางสาว อุษา ขุนเปีย
ถ่ายภาพ โดย นางสาว ศิรินารถ เนียมคล้ำ
กลุ่มงานบริหารกลาง ฝ่ายประชาสัมพันธ์