กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน เนคเทคและไมโครซอฟท์ ลงนาม “ร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์”

เนคเทคและไมโครซอฟท์ ลงนาม “ร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์”

พิมพ์ PDF

เช้าวันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2552)  ดร. คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์”  เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ  ผ่านงานวิจัยและพัฒนาของเนคเทค  ผนวกกับเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์  เพื่อพัฒนาสู่การใช้งานที่เปิดกว้าง ประเดิมด้วย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้  โครงการ “ดิจิไทย”  โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการแก้ปัญหาจราจร  และโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบ  เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟต์และแพลตฟอร์มอื่น ๆ และประยุกต์ใช้ในภาครัฐและเอกชน  พร้อมขยายความร่วมมือสู่งานวิจัยอื่น ๆ ในอนาคต  ตอกย้ำศักยภาพการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ของประเทศไทย

 

 

 

              ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  ความร่วมมือระหว่างเนคเทค และไมโครซอฟท์ ในวันนี้มีความสำคัญต่อประเทศ  โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการและด้อยโอกาส  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะให้ทุกภาคส่วนในสังคมของประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน  ซึ่งงานวิจัยจะทำดิจิทัลไทยแลนด์  ซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาจราจร พร้อมนี้ Nectec ได้ของบกลางปีเพื่อการสร้างงาน โดยให้ประชาชนส่งข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าสู่ระบบ อาทิ ข้อมูลหมู่บ้าน  แหล่งน้ำ วัด และอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ ได้มากมาย  และจะทำให้เกษตรกร  ประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ สามารถใช้ IT ให้เกิดประโยชน์กับการประกอบอาชีพ การทำดิจิทัลไทยแลนด์นี้  จะเป็นการสร้างงาน  สร้างเงิน  และจะใช้ IT Retraining  ทั้งของ Nectec และไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เพื่อฝึกอบรมบุคลากรเพื่อกลับท้องถิ่น  ให้กลับไปใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่มีอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของประเทศให้เต็มประสิทธิภาพ  เป็นการสร้างงานในกับคนในท้องที่ได้เรียนรู้วิธีที่จะส่งข้อมูลให้กับส่วนกลาง  ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้ 
               ดร.พันธ์ศักดิ์  ศิริรัชตพงษ์  ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า “เนคเทคในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทและหน้าที่ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  สำหรับความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีไมโครซอฟท์มาช่วยพัฒนาการวิจัยถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศด้วย IT ทั้งโครงการในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป  โดยในระยะแรกจะมี 2 แนวทาง ได้แก่ โครงการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ (Accessible technology) จะช่วยให้กลุ่มคนพิการหรือกลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกาย  สามารถใช้เพื่อปรับแต่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนให้เหมาะสมกับข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ข้อบกพร่องด้านการมองเห็น  การเคลื่อนไหวของมือ  ด้านสติปัญญา และการออกเสียงและสนับสนุนให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีได้มากขึ้น  ช่วยให้ผู้ใช้งานสร้างเนื้อหาบนเอกสารที่ผู้พิการทางสายตาและผู้ที่มีปัญหาทางการอ่านสามารถอ่านได้  รู้จักกันในชื่อ “Save as DAISY XML” ออกแบบมาสำหรับโปรแกรม Microsoft® Office Word 2007 ให้ผู้ใช้สามารถแปลงรูปแบบเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของ DAISY XML ตามมาตรฐานขององค์กรนานาชาติที่ชื่อ Digital Accessible Information System (DAISY) (www.daisy.org)  เทคโนโลยีนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างและทำให้กลุ่มคนพิการได้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือน ๆ กับบุคคลทั่วไป  ปัจจุบันมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่าแสนคนในประเทศไทยที่มีโอกาสจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภายใต้ความร่วมมือนี้
               โครงการเทคโนโลยีสำหรับสารดิจิทัลประเทศไทย หรือ Digitized Thailand หรือ “ดิจิไทย” ภายใต้แนวคิดที่จะเตรียมความพร้อมนำสังคมไทยสู่โลกดิจิทัล  และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy)  การแสดงความเป็นไทยในรูปแบบดิจิทัลต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดเก็บข้อมูล  การบันทึกการเคลื่อนไหว  การวิเคราะห์และการนำเสนอ  โดยอาศัยเครื่องมือสำหรับการปฏิสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด  เพื่อประโยชน์ต่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าสู่คนรุ่นหลัง  โดยผู้ชมงานสามารถสัมผัสและเข้าถึงข้อมูล อาทิ ข้อมูลด้านภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย  ไม่ว่าจะเป็นความรู้สมุนไพร จารึกบนใบลาน  การละเล่นพื้นเมือง  การร่ายรำตามแบบนาฎศิลป์ไทยโบราณ เป็นต้น  โดจะถูกนำมาอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบดิจิทัล  และใช้สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์และการบริการ
               ระยะที่ 2 เป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาจราจร  และการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบ  การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟท์และแพลตฟอร์มอื่น ๆ และประยุกต์ใช้ในภาครัฐและเอกชนร่วมกัน
               ด้าน นางสาวปฐมา  จันทรักษ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย  ไมโครซอฟท์ มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ  เอกชน  คู่ค้า  ภาคธุรกิจต่าง ๆ ภาคการศึกษา  องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เพื่อให้เข้าใจความต้องการที่ต่างกันของภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งนำจุดเด่นมาเสริมซึ่งกันและกัน  สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของไมโครซอฟท์ที่มุ่งเติบโตไปพร้อม ๆ กับคู่ค้า ลูกค้า  และสังคม  สำหรับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ นั้นถือเป็นพันธกิจหลักที่ไมโครซอฟต์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและทรัพยากรในประเทศ  โดยในแง่ของเทคโนโลยีนั้น  ไมโครซอฟท์มุ่งเน้นเรื่องของความสามารถในการทำงานร่วมกัน สำหรับความร่วมมือเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” กับเนคเทคในครั้งนี้  ถือเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยกับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์  ที่จะมาเสริมซึ่งกันและกัน  และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงต่อไป



 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป