นายประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน คอมเวิลด์ ไทยแลนด์ 2009 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ณ รอยัลฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
นายประพันธ์ คูณมี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เห็นทีมงาน คอมเวิล์ด มีความคิดที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ เน้นความคิดสร้างสรรค์ เน้นการบริการเพื่อจะถ่ายทอดออกสู่สังคม ซึ่งความมุ่งมั่น ความวิริยะอุตสาหะ เป็นแรงผลักดัน ทำให้งานคอมเวิลด์ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องครั้งที่ 8 ที่ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาคนไทย อยากเห็นคนไทยเป็นได้มากกว่า User (ผู้ใช้งาน) อยากให้คนไทยก้าวหน้าสามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น ผู้พัฒนา ผู้สร้าง ผู้คิดค้นเทคโนโลยีได้ด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้ นอกจากประเทศจะมีชื่อเสียงแล้ว เรายังประหยัดเงินตรา ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า สินค้าไอซีทีไปได้มาก อีกทั้งยังอาจส่งออกสินค้าไอซีทีไปสู่ตลาดโลกได้ด้วยซึ่งสอดคล้องกับภารกิจและเป้าหมายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ต้องการสร้างปัญญาในสังคม สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีอยู่หลายด้านและที่สำคัญ คือ การร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างคนเก่ง สนับสนุนภาคการผลิต การบริการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นกำลังคนให้กับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
ด้าน นายวิโรจน์ อัศวรังสี ตัวแทน บริษัท ดิแอสไพเรอร์สกรุ๊ป จำกัด ผู้จัดงาน “คอมเวิล์ด โฟโต้เวิล์ด2009” และบริษัทไอทีที่ร่วมออกงาน เปิดเผยว่า บริษัทแอสไพเรอร์ส ได้จัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้าไอที คอมเวิล์ด – โฟโต้เวิล์ด ต่อเนื่องครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 โดยวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยสนใจไอทีเกิดแรงบันดาลใจ และเกิดการพัฒนาตนเองจาก ผู้ซื้อ – ไปสู่ผู้พัฒนา จากยูสเซอร์ – ไปสู่การเป็น Developer ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ อัศวรังสี กล่าวว่า ปัจจุบันไอที ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการศึกษา การติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน และจำเป็นต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดย่อย แต่ด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆ จากระดับ 30 บาท มาอยู่ที่ระดับ 35 บาท ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อของประชาชนน้อยลง และขาดโอกาสในการเข้าถึงไอทีและข่าวสารความรู้ คอมเวิลด์จึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอแผนการศึกษาการกระตุ้นตลาดไอทีเพื่อผู้บริโภค โดยใช้มาตรการทางภาษี กล่าวคือ ผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และพรินเตอร์ จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยเล็งผลว่า มาตรการนี้จะช่วยให้รัฐฯ สามารถเก็บเงินภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น เพื่อชดเชยกับภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่จะลดลงไป ในขณะที่จะช่วยกระตุ้นจีดีพีของไทยได้ต่ำกว่า 0.2% ทำให้ร้านค้าไอทีลดการเลี่ยงภาษี ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และเพิ่มการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นอัตรา