กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จัดงาน HAL-Q Expo 2009 ตอกย้ำความมั่นใจในระบบ HAL-Q ให้เป็นที่รู้จักในระด

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จัดงาน HAL-Q Expo 2009 ตอกย้ำความมั่นใจในระบบ HAL-Q ให้เป็นที่รู้จักในระด

พิมพ์ PDF

 
 

               ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานเปิดงาน HAL-Q Expo 2009 จัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประกาศระบบบริหารจัดการในการผลิตอาหารฮาลาลให้ได้ตามมาตรฐานสากล  ภายใต้ชื่อ HAL-Q  และเพื่อประชาสัมพันธ์ระบบการผลิตอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลก  พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในเครือข่ายธุรกิจฮาลาลระหว่างประเ?ศ  อีกทั้งยังมีพิธีมอบประกาศนียบัตร HAL-Q ให้กับ 13 บริษัทต้นแบบ  และเพลิดเพลินไปกับงานแสดงสินค้าฮาลาลมากมาย  ตลอด 3 วันของการจัดงาน ในวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2552 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Regency Area Bangkok Convention Center (BCC) ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว
               ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่ศูนย์ฯ มีส่วนสำคัญในการผลักดันและพัฒนาจนกลายเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของสังคมโลกในขณะนี้ และสามารถประกาศความสำเร็จเป็นงานวิทยาศาสตร์ควบคู่กับศาสนาคือ  งานHAL-Q Expo 2009 และงาน Labtech 2009 ในวันนี้
               เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เป็นตลาดขนาดใหญ่  สำหรับประชากรมุสลิม 1,600 ล้านคน กระจายใน 150 ประเทศทั่วโลก  ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลกลายเป็นตลาดที่ทวีความสำคัญและสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศไทย  ซึ่งมุ่งหวังจะก้าวขึ้นเป็นครัวของโลก  การแข่งขันทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  และเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลประสงค์จะผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแข่งขันทางการค้าในระดับโลกได้  ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญในตลาดดังกล่าวมิใช่ประเทศมุสลิม  หากแต่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีศักยภาพในการผลิตระดับสูง  เช่น สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  รวมถึงประเทศเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด เช่น บราซิล  รัสเซีย  จีน อินเดีย ซึ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหาหนทางยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งในส่วนของศาสนาและในส่วนของวิทยาศาสตร์  เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล และเพื่อความลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
 

 

 

               ดร.คุณหญิงกัลยา  กล่าวอีกว่า  ดิฉันรับทราบด้วยความยินดีมาโดยตลอดว่า วิทยาศาสตร์ฮาลาลเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทยที่แม้จะมีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 แต่เป็นสังคมที่ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีภาพในการพัฒนาตนเอง  และชาวมุสลิมเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงได้ร่วมกันพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น  จนกระทั่งกลายเป็นรูปแบบที่หลายประเทศนำไปปฎิบัติ  และสามารถเป็นแกนนำในการสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์ฮาลาลนานาชาติขึ้นได้อย่างมั่นคง  งานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยมิได้จำกัดอยู่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น  ปัจจุบันได้ขยายไปทั่วภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก  ดิฉันเองได้มีโอกาสไปเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ World of Halal Science, Industry and Business ในงาน Anuga หรืองาน WHASIB-ANUGA ณ นครโคโลญจน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี  เมื่อวันที่ 11  ตุลาคม ที่ผ่านมา  ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ดิฉันได้ประจักษ์พยานในการนำธงวิทยาศาสตร์ฮาลาล ของประเทศไทยปักลงบนแผ่นดินยุโรป ถือเป็นงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลครั้งแรกที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป  ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการสูง  ดิฉันได้พบปะกับผู้เข้าร่วมประชุมจาก 19 ประเทศทั่วโลก  นับเป็นการประกาศถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ให้สังคมโลกได้รับทราบโดยทั่วกัน  นอกจากนี้  งานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้บูรณาการระบบมาตรฐานอาหารตามหลักการในศาสนาอิสลามเข้ากับระบบความปลอดภัยในกระบวนการผลิต  และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมตลาดระยะเวลา 10 ปี จนพัฒนาเป็นระบบที่เรียกว่า HAL-Q ซึ่งให้ความสำคัญกับความปลดภัยด้านจิตวิญญาณของมุสลิมเป็นสำคัญ  ควบคู่กับความปลอดภัยด้านอาหารตามแนวทางอุตสาหกรรม และสามารถจัดวางระบบนี้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 120 โรงงานทั่วประเทศ  ครอบคลุมคนงานมากถึงหนึ่งแสนคน นับเป็นการประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างเป็นนวัตกรรมที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานโรงงานอาหารฮาลาลทั่วประเทศ  และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประสงค์จะนำความสงบ  สันติ และการพัฒนา เข้าสู่พื้นที่ที่มีมุสลิมเป็นประชากรหลัก  การดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล นับเป็นความสำเร็จที่จัดได้ว่าเป็ฯความภาคภูมิใจร่วมกันของประชาชนไทยทุกคน
 

 

               ด้าน รศ.ดร. วินัย  ดะห์ลัน  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบHAL-Q เป็นระบบที่สร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตอาหารฮาลาล อย่างถูกต้อง  ปลอดภัย และถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม  แต่ระบบนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยและในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก  จึงได้จัดงาน HAL-Q Expo 2009 ขึ้น  เพื่อประชาสัมพันธ์ระบบการผลิตอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก  พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในเครือข่ายธุรกิจฮาลาลระหว่างประเทศ  ทั้งนี้ยังต้องการประกาศให้ทั่วโลกได้ทราบว่าระบบ  HAL-Q เป็นระบบที่คนไทยพัฒนาขึ้นมาเอง  สมความแนวคิด Halal Science Thailand's Signature จึงเรียกได้ว่าเป็นไทยแลนด์แบรนด์อย่างแท้จริง  ทั้งเป็ฯการสนับสนุนองค์การศาสนาอิสลามที่ทำหน้าที่รับรอง ฮาลาลพร้อมกันไปด้วย
 

 

               สำหรับงาน HAL-Q Expo 2009 จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2552 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Regency Area Bangkok Convention Center (BCC) ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว  และจะช่วยเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศได้รู้จักและยอมรับในระบบ HAL-Q และเป็นการสร้างมาตรฐานของระบบให้เข้าสู่ระดับโลก  เพราะผมเชื่อมั่นว่า ระบบ HAL-Q เป็นระบบที่สร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมาก  และถือได้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้  เพื่อสร้างแนวทางใหม่ให้กับวงการอาหารฮาลาลในอนาคตอีกด้วย

 

  

 

 

เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02 354 4466 ต่อ 118
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา  ภาคเพียร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร. 02 354 4466 ต่อ 199
 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป