ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับนายประสิทธิ์ โพธสุธน ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา และคณะ ในการมาเยือนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2552 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม ศกนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนกรมวิทยาศาสตร์บริการ และได้ให้นโยบาย 2 ข้อ คือ 1) ทำอย่างไรจะสร้างเด็กที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น 2) ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศไปสู่ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาคอตุสาหกรรม และภาคประกอบการ เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดรายจ่าย และแข่งขันได้กับนานาประเทศ วิทยาศาสตร์จึงเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ เช่น วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์เพื่อความมั่นคง วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่ชุมชนให้เป็นรูปธรรมภายใน 3 - 6 เดือน เพื่อสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ด้อยโอกาสในชนบทให้เร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันภาพรวมของจำนวนเงินที่ใช้ในการวิจัย คิดเป็น 0.26 % ของ GDP หรือคิดเป็นนักวิจัย 57 คน ต่อ 10,000 คน และในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงฯ กำหนดจัดการประชุมใหญ่เพื่อให้เกิดการพบปะระหว่าง นักวิจัย นักธุรกิจ นักวิศวกร สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจุดประกายและหาแนวทางประสานกับหน่วยงานอื่นถึงแนวทางการแก้กฎระเบียบ เพื่อจะได้นำผลงานวิจัยจากหิ้งลงมาสู่ห้างได้ ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาตร์ฯ ขอให้ช่วยผลักดันการจัดสรรงบประมาณในปี 2553 ขอเพิ่มเป็น 0.5% ของ GDP
นายประสิทธิ์ โพธสุธน ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานที่สำคัญ รับผิดชอบ ส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดการพัฒนาและความมั่นคงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ในวันนี้เดินทางมาเยือนเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจระหว่างคณะกรรมาธิการกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติร่วมกัน โดยมีประเด็นหลัก คือ เรื่องงานวิจัย ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และคณะกรรมาธิการ ได้คิดตรงกัน และคิดว่างานวิจัยของไทยที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน หากภาคเอกชนสามารถนำงานวิจัยนี้ไปใช้ได้ ก็จะเกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ในช่วงเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะทำอย่างไรให้เกิดการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งในวันนี้คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับนโยบายที่กระทรวงวิทย์ฯ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเห็นว่างบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้นได้น้อย ที่ผ่านมาผลงานวิจัยของไทยมีจำนวนมาก แต่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระเบียบบางข้อ ที่ระบุว่างานวิจัยที่ใช้เงินของรัฐบาลภาคเอกชนไม่สามารถนำผลงานวิจัยทั้งหมดไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้
นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน โฆษกกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผลงานวิจัยรถพลังงานไฮโดรเจน ผลิตโดยคนไทยที่มีศักยภาพผลิตได้เป็นรายที่ 6 ของโลกที่ทำเป็นต้นแบบ แต่ประสบปัญหาตรงข้อกฎหมายของกรมการขนส่งทางบกที่ไม่อนุญาตให้จดทะเบียน และไม่ให้เอกสิทธิ์กับภาคเอกชนทั้งหมดในส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ทำให้นักลงทุนไม่กล้ารับผลงานวิจัยดังกล่าวไปต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีการพัฒนามากมาย เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชานินัดดามาตุ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภายในงานรถยนต์ไฮโดรเจน ณ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ประสานหน่วยงานอื่นถึงแนวทางการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการลงทุน ต่อไป