ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับจังหวัด/ กลุ่มจังหวัด (ครั้งที่ 1) : สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1(กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี)” เพื่อนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสนับสนุนจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และเป็นการสร้างความร่วมมือ ในการทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวง มหาดไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมี นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ โรงแรม เฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี (เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552)
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ดิฉันจะขอพูดถึงนโยบายหลักๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเบื้องต้น ว่าทำไมจึงต้องมีคำว่า สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่อยากจะนำผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปสร้างให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการ ทุกๆ ภาคส่วนต่างก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
จริงอยู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้กับเรา ให้กับชีวิตของเรา แต่ว่าเรามักจะไม่คอยตระหนัก เพราะว่าคนอื่นเขาทำไว้แล้ว เราก็นำมาใช้ก็สะดวกดี แต่จากปัจจุบันนี้เป็นต้นไป ถ้าเราไม่นำไม่เน้นที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยในการทำงาน ในการประกอบกิจการาต่าง ๆ แล้ว เราจะสู้คนอื่นไม่ได้ เราจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายคือเราจะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อลดต้นทุน แน่นอนที่สุดกำไรก็เพิ่มขึ้น เมื่อเราใช้เทคโนโลยีแล้วเราก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมากกว่าอย่างที่ท่านปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวไว้ว่า เรานำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแปรรูปสินค้าเกษตรต่าง ๆ ให้มีคุณภาพดีขึ้น ให้มีความทนทานมีประสิทธิภาพจึงจะแข่งขันกับคนอื่น หลักการง่ายๆ คือ ใช้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าท่านจะอยู่หน่วยงานไหนก็ตาม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้อายุครบ 30 ปี เพราะฉะนั้นเรามีความรู้ เรามีคนที่จะช่วยคุณได้ เรามีผลงานที่ทำมาตลอด 30 ปีนี้ ที่จะไปต่อยอดไปช่วยท่านได้ทุกๆ ด้าน และท่านนายกรัฐมนตรีพูดในหลายวาระว่า เราจะต้องสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ จะสร้างสรรค์ได้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อีกประการหนึ่งเราอยากจะเห็นความร่วมมือของภาครัฐของเอกชน ร่วมกันทำงาน ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงคิดนวัตกรรมใหม่ๆ 2-3 เรื่อง เรื่องแรก คือ ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) โดยเฉพาะ เพื่อจะผลักดัน เพื่อจะเป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถานการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำความรู้ความสามารถที่พวกเราทำกันมานานแล้วไปช่วยประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้มีผลงานออกมาค่อนข้างเป็นรูปธรรมและจะออกมาเรื่อยๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรามีกลุ่มบุคคลที่จะเข้าไปปรับปรุงโรงสีข้าวขนาดกลาง ขนาดเล็กของประชาชนให้เพิ่มมูลค่าของข้าวที่สีให้มีเมล็ดดีขึ้น และลดต้นทุนไฟฟ้าที่ใช้ลงไปถึง 50 % คนทำงานก็ทำงานง่ายขึ้น เจ้าของโรงสีข้าวก็มีเวลาที่จะไปทำงานอื่น ๆ ได้เป็นสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้ว และกำลังจะขยายไปยังโรงสีข้าวทั่วประเทศ 64,000 โรง ท่านใดสนใจก็ติดต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ เป็นการนำความรู้ความสามารถของกระทรวงฯ ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ อยู่แล้วในขณะนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่มีหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ เหมือนกระทรวงอื่นๆ เราจึงต้องอาศัยเครือข่าย ประการแรกคือกระทรวงมหาดไทย ที่เราได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงมหาดไทยแล้วว่า ขออนุญาตให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้บริหารชั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจังหวัด และอาศัยเครือข่ายของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ในจังหวัดต่างๆ ให้ไปถามความต้องการของประชาชน ไปรับทราบว่าเขามีปัญหาอะไร แล้วกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนงบประมาณให้ไปช่วยทางด้านการผลิต ประสิทธิภาพการผลผลิตต่าง ๆ การยืดอายุผลไม้ การผลิตภัณฑ์อาหารและขนม เป็นต้น เป็นส่วนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเครือข่ายในพื้นที่และจะไปช่วยท่านในการประกอบอาชีพต่าง ๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุม กรอ.วท. มีคนเสนอแนะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ว่าควรจะสร้างเครื่องเก็บอ้อยโดยไม่ต้องเผาอ้อยก่อนเก็บ จะได้ผลดีขึ้น เครื่องที่ซื้อจากต่างประเทศ ราคา 15-16 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังรวบรวมผู้รู้มาสร้างเครื่องที่จะช่วยชาวไร่อ้อย เพื่อให้ตัดอ้อยได้สะดวกรวดเร็วขึ้น คงจะไม่นานเกินรอ และสำหรับผู้ที่ทำนา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลิตเครื่องวัดความชื้นของข้าวให้กับชาวนา สามารถวัดความชื้นข้าวของตนเองก่อนที่จะนำไปขายและไม่ต้องเถียงกันเรื่องความชื้น ก็จะได้ราคาที่ยุติธรรม ถ้ามีไซโลก็มีเครื่องวัดความชื้นในไซโล มี 2 ประเภทด้วยกัน
ด้าน ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวสู่จุดแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่เน้นการผลิตและการบริการบนรากฐานของเศรษฐกิจฐานความรู้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ตระหนักถึงบทบาทในการสร้างปัญญาในสังคม เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2547-2552 ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เห็นถึงความสำคัญ ในการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสนับสนุนจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่มีทั้งทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ และมีศักยภาพเป็นทุนอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และพัฒนากระบวนการผลิต อันนำไปสู่ประโยชน์สูงสุด ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
ในการนี้ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือ ในการทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวง มหาดไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินงาน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้พัฒนาจังหวัด และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับประชาชนในจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวง มหาดไทยได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการ เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายสถาบันการศึกษาที่เป็นคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ของจังหวัด และประสานการดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เพื่อหารูปแบบ (model) ที่เหมาะสม ในการดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 300 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชนของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จะมีการเสวนา ถึงความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนจังหวัด ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สินค้าและบริการ รวมทั้งการแก้ปัญหาในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน เพื่อให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมทั้งเกิดแนวคิดที่จะนำเสนอในที่ประชุมกลุ่มย่อยในช่วงบ่ายนี้ เพื่อให้ได้รูปแบบ (model) การดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อไป
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี ได้มาร่วมประชุม เพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบ (Model) การดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมทั้งปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติในทิศทางที่สอดคล้องกับเงื่อนไข ข้อจำกัด ตลอดจนศักยภาพ และโอกาสของแต่ละจังหวัด และใช้สนับสนุนการพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
เจ้าของโครงการ : สำนักงานปลัดกระทรววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/47 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ชั้น 5 อาคารพระจอมเกล้า
ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
โทรศัพท์ : 0-2354-4466 ต่อ 513
โทรสาร : 0-2354-3718
รายละเอียดโครงการ : http://www.most.go.th/integration/
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2354-4466 ต่อ 118 , 120
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ถ่ายภาพ : นางสาวสุนิสา ภาคเพียร โทร. 023544466 ต่อ 199