ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปาฐกถาพิเศษในเวทีเสวนา เรื่อง “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า สร้างคุณภาพสินค้าสู่สากล” เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552
ดร.สุจินดา โชติพานิช กล่าวถึง ความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้า การเปิดเสรีทางการค้า วิกฤติการณ์พลังงาน มาตรการสุขอนามัยเหล่านี้ ก็เพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนและความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม จึงทำให้สินค้าต่าง ๆ เกิดการแข่งขันกันด้วยคุณภาพมากขึ้น เพื่อผลักดันคุณภาพสินค้าไปสู่สากล จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้เกิดความมั่งคั่งกับผลิตภัณฑ์ ธุรกิจและความเจริญของประเทศ ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงล้วนขับเคลื่อนสู่การพัฒนาไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ต้องใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนในการพัฒนา ซึ่งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบความรู้ของวิทยาศาสตร์ สินค้าทุกชนิดสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ และทำให้สินค้ามีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาสร้างฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ให้เข็มแข็งก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อจะได้มีความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี สามารถสร้างผลกำไรให้กับประเทศได้มากขึ้น
สถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า การจัดอันดับในระดับสากลของ IMD เมื่อปี 2550 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 33 ในปี 2551 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับสูง ๆ จะเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และมีความเจริญด้านอุสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกัน อาทิ สิงคโปร์ ใต้หวัน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่หากเทียบกับประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งของไทย จะเห็นว่าประเทศไทยยังตามไม่ทันเทคโนโลยี ปัจจัยหลักที่ IMD นำมาใช้ในการประเมิน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการลงทุนกับต่างประเทศ ด้านการผลิต ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านวิทยาศาสตร์กับประเทศในภูมิภาค จะเห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มในการพัฒนาดีขึ้น ปัญหาสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของไทย คือ มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนามีอยู่เพียง 0.24 เปอร์เซ็น ของ GDP ส่วนในเรื่องสิทธิบัตรและผลงานตีพิมพ์ของไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอยู่มาก ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 5 หมวดที่ 9 มาตราที่ 86 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปมีบทบาทและดำเนินงานการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การถนอมอาหาร การยืดอายุผลิตภัณฑ์ พลังงานทดแทน ไบโอดีเซล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ชิ้นส่วนทางการแพทย์ อีกทั้ง ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้แก่สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่ระดับชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคการผลิต การค้าและการบริการ โดยให้บริการพื้นที่การวิจัย ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกตามมาตรฐานโลก ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์วัดให้ถูกต้องเที่ยงตรง งานบริการมาตรวิทยา การบริการฉายรังสีสินค้าการเกษตร การให้บริการตรวจประเมินรับรองระบบคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับของสากล บริการแสงซินโครตรอนและการสนับสนุนการวิจัยด้านแสงซินโครตรอน มาตรการจูงใจสนับสนุนธุรกิจการวิจัย เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับ R&D การยกเว้นภาษีฯ จากค่าใช้จ่าย R&D นวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย โดยกระทรวงวิทย์ฯ จะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยแทน
ดร.สุจินดา กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเร็วกว่าเดิม แต่ยังไม่ทันกับความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมที่จะผลักดัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเข้าไปช่วยสนับสนุนให้ก้าวหน้ามากขึ้นต่อไป
ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์
ผู้ตรวจข่าว : หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี