อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท กลบ์ กฤษณ์ เอ็นจิเนียริ่งจำกัด ต่อยอดผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) “ ระบบรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) กับผลิตผลเกษตรด้วยการบังคับอากาศแนวตั้ง” โดยนำไปใช้กับผลลำไยสด สามารถช่วยยืดอายุลำไยสดได้ถึง 20 วัน นานขึ้น 3 เท่า ไม่ทิ้งสารตกค้าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดชมสุดยอดเทคโนโลยีนี้ได้ในโซนเทคโนมาร์ท งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ลำไย เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญต่อการส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี โดยส่งออกในรูปลำไยสดมากที่สุด รองลงมาคืออบแห้ง แช่แข็ง และลำไยกระป๋อง ตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยตลาดจีนและฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 67 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยกระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แหล่งปลูกลำไยที่สำคัญคือจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน นอกนั้นปลูกในภาคอื่นๆ เช่น เลย จันทบุรี และสระแก้ว
วิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวลำไยให้สามารถเก็บรักษาได้นาน ปกติจะใช้วิธีการรมควันผลลำไยด้วยควันกำมะถัน หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยรักษาสีของเปลือกลำไย และป้องกันเชื้อรา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยสด ที่ส่งออกเกินกำหนด สาเหตุอาจเกิดจากห้องรมควันที่ผู้ประกอบการใช้มีการกระจายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่สม่ำเสมอทั่วห้องรมควัน ทำให้ลำไยบางส่วนมีปริมาณสารตกค้างที่มากเกินไป และอาจเกิดจากวิธีการรมควันไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการใช้สารกำมะถันในปริมาณมากเกินไป เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นาน ด้วยเหตุนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตรฯ จึงได้ร่วมกับสถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาต่อยอดโดยใช้กลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผนวกองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม ความรู้ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล และองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจ จนในที่สุดมีการกระจายเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการอย่างแพร่หลาย สามารถสร้างห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถควบคุมความเข้มข้นและจัดการเรื่องการกระจายตัวของแก๊สในห้องอบให้สม่ำเสมอได้ ลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถการส่งออกลำไยที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ
นายวีระพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ลำไยที่ผ่านการรวมควันด้วยวิธีนี้มีคุณภาพสูงและปริมาณสารตกค้างก็ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ยืดอายุการเก็บรักษาลำไยให้สดได้ถึง 20 วัน และเพิ่มมูลค่าให้แก่ลำไย ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นการช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ผู้สนใจสามารถชมเทคโนโลยี ห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 25 พ.ย. 58 ในโซนเทคโนมาร์ท งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร 0-2577-9999
ติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 094-486-5599 / คุณฐาปนี (เก๋ง) 085-772-9955 / คุณสุตานันท์ (กอล์ฟ) 089-499-5531
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183 / ดิศราพร (ปุ๋ย) T.086-985-6832
อีเมล: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
เผยแพร่ข่าวโดย: นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ