ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการระบบท่อส่งน้ำจากโรงกรองน้ำบ้านหม่านิก ไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทางห่างจากสนามบินภูเก็ต ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ตร่วมกับโครงการชลประทานภูเก็ต และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต เป็นหน่วยดำเนินการ ณ บริเวณเขื่อนบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
โครงการวางท่อขยายเขตระบบจำหน่ายน้ำประปา ไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นโครงการที่มีความเร่งด่วนอย่างมาก หากไม่ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 ตำบล ประชาชนจำนวนประมาณ 600 ครัวเรือน ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง ไม่สามารถรองรับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ในอนาคตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายสนามบินภูเก็ต และอื่นๆ ได้
ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า วันนี้ผมได้รับมอบหมายให้มาดูเรื่องน้ำประปา ภูเก็ตนี่มีปัญหาน้ำประปาไม่พอหรือคุณภาพไม่ดีมานานมาก อย่างน้อยๆ เท่าที่ผมรู้จักจังหวัดนี้ ทำงานแถวนี้มาก่อน 10-20 ปี ที่นี้ปัญหาก็คือว่า 1.สนามบินกำลังจะขยายตัว และก็จะเชื่อว่าจะมีคนมาเที่ยวเยอะ การทำให้สนามบินมีมาตรฐานมีความจำเป็น ก็เท่ากับบริหารความปลอดภัย บริหารน้ำให้จำเป็น 2.คือประชาชนที่อยู่ทางตอนเหนือของภูเก็ตเอง เวลานี้ก็น้ำก็ไม่สะดวกตลอดปี ในแง่ปริมาณและคุณภาพ เพราะฉะนั้นแผนที่จะขยายระบบน้ำประปาไปทางทิศเหนือของภูเก็ต เป้าหมายแรกก็จะเป็นสนามบิน
วันนี้ก็เลยได้ตกลงกันอย่างนี้ครับว่า ในเมื่อประโยชน์ใช้สอยมันมี สนามบินก็ได้รับประโยชน์ ประชาชนก็ได้รับประโยชน์ แล้วก็ไม่ว่าสนามบินหรือประชาชนก็ได้รับประโยชน์ การประปาก็ขายน้ำอยู่วันยันค่ำ ก็เลยตกลงกันว่าเราจะแบ่งค่าใช้จ่ายกัน 3 หน่วย ในวงเงินร่วมๆล้าน เอาเป็นว่าผมในนามของท่านนายกรัฐมนตรี ให้ของขวัญกับชาวภูเก็ตเลยก็แล้วกันนะครับ ชาวภูเก็ตที่อยู่ทางเหนือของจังหวัดภูเก็ต ในอีก 6 เดือน ท่านจะมีน้ำประปาใช้ตลอดและน้ำที่มีคุณภาพ ก็เท่ากับนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยและใช้สนามบินก็จะได้ใช้น้ำตลอดปี และมีคุณภาพ ไม่ต่างจากที่ท่านใช้ในประเทศของท่านก็แล้วกัน
หลังจากตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการระบบท่อส่งน้ำจากโรงกรองน้ำบ้านหม่านิก ไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต ณ บริเวณเขื่อนบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต แล้ว ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะ เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อมอบนโยบายสถานการณ์ปัจจุบันและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทางให้อาจารย์และนักวิจัยได้รับทราบ
![]() |
![]() |
![]() |
ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ในเรื่องธุรกิจ ต่อไปนี้เราจะนำวิทยาศาสตร์มาทำธุรกิจ แปลว่าจะมีคนเข้ามาในแวดวงนี้มากมาย เพราะทำมาหากินได้ ประเทศจะก้าวหน้าเกิดความเจริญมากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยี และเพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ จึงได้เลือกตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคใต้คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแกนในเรื่องนี้ เพราะทั้ง 3 แห่งมีผู้ทรงคุณวุฒิอยู่มาก แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์อย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของผู้ประกอบการด้วย เราจะบ่มเพาะบุคคลเหล่านี้ ให้รู้จักนำวิทยาศาสตร์มาทำมาหากิน อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำแล้วเอาไปขาย นั้นคือความหวัง ถ้าเป็นจริงงานวิจัยทั้งหลายก็จะไม่ได้อยู่แค่บนหิ้ง แต่จะเป็นงานวิจัยที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง สิ่งที่หวังนี้แน่นอนว่าต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะเราไม่เคยทำธุรกิจบนวิทยาศาสตร์ ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแกนในการทำให้แนวความคิดเรื่องอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นจริง เพราะที่นี้มีอาจารย์ปริญญาเอกนับพันคน เพียงแต่ว่านักธุรกิจต้องให้โจทย์ที่เป็นจริงค้าขายได้กับทางมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็ต้องคิดคำตอบที่เอามาใช้ประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม นั้นเป็นสิ่งที่เราหวัง ต่อไปนักศึกษาจะได้เรียนบนพื้นฐานของความจริงจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นและตรงต่อความต้องการจริงๆ
![]() |
![]() |
![]() |
รองศาสตราจารย์ภูวดล บุตรรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นคณะใหม่ ได้รับการอนุมัติจัดตั้งภายใต้มติของสภามหาวิทยาลัยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 นักศึกษาปัจจุบัน ประมาณ1, 300 คน โดยมี 2 ศาสตร์อยู่ด้วยกัน ได้แก่ ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
นอกจากผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทั้ง 2 ศาสตร์ คณะฯยังมุ่งเป้าในการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่ตอบสนองและแก้ปัญหาของท้องถิ่นของประเทศละระดับนานาชาติ การพัฒนาอาจารย์ศึกษาต่อปริญญาเอก ซึ่งขณะนี้มีอาจารย์ในคณะฯศึกษาต่อปริญญาเอก ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 12 คน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 คน ทั้งทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์, ทุน กพ. และทุนมหาวิทยาลัย
![]() |
![]() |
![]() |
คณะฯ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติอันดามัน ( ANED = Andaman Environment and Natural Disaster Research Center ) โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติที่มีงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกและเน้น การพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดฝั่งอันดามัน เป็นศูนย์ข้อมูลและวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ มุ่งเน้น กรณีประเทศไทย ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมาศูนย์ ANED มีโครงการวิจัย หลายโครงการเช่น
• โครงการวิจัยเกี่ยวกับน้ำจืดในจังหวัดภูเก็ต (ทุกมิติ)
• โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขความละเอียดสูง ระบบเตือนภัยพายุ เตือนภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหวและสึนามิ
• ทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ แบบจำลองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทำระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
• การใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล ( Remote Sensing ) สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ
ปัจจุบัน คณะฯได้มีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA)
- สถาบันวัจัย ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต/กรมอุตุนิยมวิทยา
- ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์/กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่างประเทศ
- Massachusetts Institute of Technology (MIT)
- University of Salburg , Austria
- University of Queensland Austaria
จากการดำเนินงานดังกล่าว คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่มีความมุ่งมั่นที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคณะฯเพื่อการพัฒนาพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันอย่างยั่งยืน คณะจะมีอาจารย์และนักวิจัยที่จบระดับปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประมาณ 20 คน แต่ยังขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำวิจัย คณะฯได้เสนอโครงการร่วมกับการขยายพื้นที่การศึกษาจังหวัดพังงา เช่น โครงการจัดเตรียมศูนย์เตือนภัยและอุบัติภัยอันดามัน และศูนย์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 258 ล้านบาท และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วงเงิน 250 ล้าน รวมทั้งโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอันดามัน เกี่ยวกับการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม จำนวน 48 ล้านบาท ที่ทางจังหวัดได้เสนอเข้าร่วมพิจารณา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ครั้งนี้ด้วย
ภาพข่าว : นายองอาจ ทองเปลี่ยน