กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก MOST Update สวทช. ก.วิทย์ - สสส. และภาคีเครือข่าย หนุนเวที “นวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาสังคม

สวทช. ก.วิทย์ - สสส. และภาคีเครือข่าย หนุนเวที “นวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาสังคม


ณ ห้องประชุมสังเวียน อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  

               9 มิถุนายน 2559 ห้องประชุมสังเวียน อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย - เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดพิธีมอบทุนให้กับผู้ชนะการเข้าร่วมประกวด “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม: Active Citizen: Geek so Good” โดยมี นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค และผู้บริหาร สสส. ร่วมงาน พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมประกวดโครงการฯ จาก 14 ทีมทั่วประเทศ นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อชิงทุนมูลค่ารวมกว่า 5 แสนบาท สำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงเพื่อแก้ปัญหาในสังคมต่อไป

 

               นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. และ สสส. โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ บริษัทไมโครซอฟต์(ประเทศไทย) จำกัด และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดทำ “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม : Active Citizen: Geek so Good” เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรม พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนถึงปัญหาสังคม และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ (Startup) ในด้าน Social Enterprise ที่มีการนำเทคโนโลยีเป็นฐานในการประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น โดยมีผู้เข้าประกวดที่มีโครงการดีๆ หลายด้าน ทั้งด้านการช่วยเหลือสูงอายุ การป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย การวัดพฤติกรรมการขับขี่แบบเรียลไทม์ หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือผู้เดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มสตรี เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกวดเล็งเห็นความสำคัญและนำเสนอออกมาเป็นแอปพลิเคชั่นให้ประชาชาชนในสังคมได้ใช้เทคโนโลยีที่สะดวก เป็นทางเลือกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบัน 

 

               “ทั้งนี้หากผู้ชนะการประกวดสามารถพัฒนาต่อยอดโครงการได้ โดย สวทช. มีกลไกการสนับสนุนให้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ การนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดด้วยการร่วมงานแสดงสินค้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ในโครงการได้นำผลิตภัณฑ์เสนอออกสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รับคำติชม หรือ feedback เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือเชื่อมโยงผลงานต่างๆ ในโครงการฯ เข้าสู่ศูนย์แห่งชาติของ สวทช. และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบของ สวทช. ซึ่งถือเป็นการช่วยเสริมความเป็นเลิศด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากนั้นแล้วยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มทักษะการนำเสนอสินค้าในภาษาที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้ง่าย เพื่อจูงใจและสร้างความสนใจในตัวสินค้าเพื่อการตัดสินใจซื้อ และการเป็นพี่เลี้ยงในการเริ่มต้นธุรกิจให้น้องๆ ก็ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ สวทช. เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนโครงการ”  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

 

               นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค และผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. กล่าวว่า “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม Active Citizen : Geek so Good” มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – 31 กรกฎาคม 2559 เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยน่าอยู่ มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มนักเทคโนโลยีคนรุ่นใหม่ให้สร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สอคคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของซอฟต์แวร์พาร์คที่ส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะได้รับการอบรมการให้คำปรึกษาเพื่อผลักดันให้ผลงานพร้อมที่จะขยายผลใช้งานได้จริงและที่สำคัญมีทุนสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประกวด เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาและช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมสูงสุดด้วย

 

 

ข่าวโดย : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์ 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3728-3732   โทรสาร 02 333 3834

E-Mail:   อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน     Facebook : sciencethailand

Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 1313

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป