พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประวัติการสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ในขณะนั้น) ฯพณฯ ท่านเล็ก นานา และท่านปลัดกระทรวงฯ ศจ.ดร.สง่า สรรพศรี ได้มอบหมายให้ คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบ ปั้น และควบคุมการหล่อ จากนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ (ฯพณฯ ท่านเล็ก นานา) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชอิริยาบถต่างๆ กัน ห้าแบบ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ทรงเลือก ในฐานะที่ทางกระทรวงฯกราบบังคมทูล ขอให้ทรงเป็นประธานกิติมศักดิ์ ในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ ตามแบบที่ทรงเลือกแล้วกลับคืนมา และได้ Sketch เป็นรูปปั้นและออกแบบฐาน แล้วดำเนินการปั้นด้วยดินเหนียวตามขั้นตอน มีขนาดสองเท่าของพระองค์จริงตามสัดส่วน
พระบรมรูปเป็นท่าประทับนั่งบนเก้าอี้โปร่งบาง ไม่มีท้าวแขน สไตล์เก้าอี้เป็นแบบเชคโก ทรงพระสนับเพลาแบบฝรั่ง ฉลองพระองค์ยาวเกือบถึงพระชานุปักลวดลายแบบฝรั่ง พระกรด้านซ้ายทอดบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงถือทานพระกรทอดวางไว้บนโต๊ะข้างพระองค์ซึ่งมีพระมาลา พานพระศรี และพระสุพรรณศรี ทรงเหน็บพระแสงดาบ "หัตถ์นารายณ์ไว้ที่บั้นพระองค์" ด้วย ผู้ที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์อาจเข้าใจผิดว่า ทรงพระแสงดาบถึงสององค์ด้วยกัน
สำหรับแท่นซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ได้ออกแบบและปั้นหล่อเป็นทองแดงผสมทองเหลืองรมดำ เช่นเดียวกับองค์พระบรมราชานุสาวรีย์แสดงเรื่องราวดังนี้
ด้านหน้าเป็นพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านหลังเป็นตัวหนังสือจารึกพระราชประวัติ
รูปปั้นนูนต่ำด้านซ้ายของพระองค์เป็นรูปปั้นนูนต่ำแบ่งเป็นสองส่วน ตอนบนแสดงถึงเหตุการณ์ขณะท่านค้นคว้าวิชาดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ และขณะทรงผนวชอยู่ได้ทรงปรึกษากับท่านสังฆราช ปัลลกัวช์ ทรงช่วยในการแต่งพจนานุกรมภาษาไทย - ลาติน - ฝรั่งเศส-อังกฤษ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงติดต่อกับหมอสอนศาสนานิกาย โปรเตสเต็นท์ ชาวอเมริกัน คือมิสเตอร์ แคสแวลล์ หมอบรัดเลย์ และหมอเฮาซ์ ซึ่งได้ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่พระองค์พร้อม ๆ กับการถวายคำแนะนำด้านวิทยาการสมัยใหม่ อันได้แก่ วิชาดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการแพทย์ ด้านล่างแสดงถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งแม่กองสนามหลวงตรวจสอบภาษาบาลี และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
รูปปั้นนูนต่ำด้านขวาของพระองค์ แสดงถึงเรื่องเมื่อมหาสมาคมประทับบนพลับพลาค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ วันอังคารเดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๕ โมง ๓๖ นาที ๒๐ วินาที สุริยคราสจับเต็มดวงดังที่ทรงคำนวณ ทุกประการ ท่ามกลางการเฝ้าคอยสังเกตดูสุริยคราสจากนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม ทั้งไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงเชิญมาทั้งสิ้น ต่างก็ชื่นชมโสมนัสในความสำเร็จครั้งนี้ พระเกียรติยศในพระปรีชาญาณปรากฎเลื่องลือไปทั้วยุโรป เอเชีย และอมริกา เพราะทรงคำนวณสุริยุปราคาถูกต้องมากกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง ๒ วินาที
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในฐานะ "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" คุณไข่มุกต์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบ ปั้น และควบคุมการหล่อ นายมานพ สุวรรณปิณทะ เป็นช่างปั้นผู้ช่วยพระบรมรูปลอยตัว (ROUND-RELIEF) พันตรีนภดล สุวรรณสมบัติ นายพิทยา จั่นแย้ม เป็นช่างปั้นผู้ช่วยรูปปั้นนูนต่ำ (BAS - RELIEF) ประดับแท่นฐาน นายจินตรัตน์ พนมวัน ณ อยุธยา เป็นผู้หล่อ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว "ประวัติการก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ที่ได้รวบรวมขึ้น ในอดีต
คุณภูษิต โพธิ์แสง เรียบเรียงบทความ
แหล่งข้อมูล : หนังสือสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 - 24 สิงหาคม 2530