กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก แนะนำกระทรวง ประวัติหน่วยงาน

ประวัติหน่วยงาน

พิมพ์ PDF

สืบเนื่องจากการประชุม คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ ๙/๒๕๑๙ มีมติให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ วางนโยบาย และแผนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมี ศ.ดร.ชุบ กาญจนประกร เป็นประธานอนุกรรมการ และ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี เป็นรองประธาน โดยจัดทำรายงาน เรื่อง "การปฏิรูประบบบริหาร ราชการของรัฐ" เสนอแนะให้จัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานขึ้น ซึ่งประธานคณะกรรมการบริหาร สภาวิจัยแห่งชาติ (นายสัญญา ธรรมศักดิ์) ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) และรัฐบาลในสมัยนั้น ได้รับเรื่องไว้พิจารณา แต่ยังไม่มีข้อยุติก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน

 

 

sira.gifรัฐบาลต่อมา คณะรัฐมนตรีโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มอบให้คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหาร ของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ดร.สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี ศ.ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นประธานอนุกรรมการ พิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งสภามีมติรับหลักการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๔๐ มีผลใช้เมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นมา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๕pram.gif

ต่อมาในสมัยรัฐบาล ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยกับสถานะการปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้ปฏิรูปเป็น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ ในบทบาทที่ชัดเจน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม ๖ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ (ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี)

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

anuu.jpgพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประวัติการสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ในขณะนั้น) ฯพณฯ ท่านเล็ก นานา และท่านปลัดกระทรวงฯ ศจ.ดร.สง่า สรรพศรี ได้มอบหมายให้ คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบ ปั้น และควบคุมการหล่อ จากนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ (ฯพณฯ ท่านเล็ก นานา) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชอิริยาบถต่างๆ กัน ห้าแบบ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ทรงเลือก ในฐานะที่ทางกระทรวงฯกราบบังคมทูล ขอให้ทรงเป็นประธานกิติมศักดิ์ ในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ ตามแบบที่ทรงเลือกแล้วกลับคืนมา และได้ Sketch เป็นรูปปั้นและออกแบบฐาน แล้วดำเนินการปั้นด้วยดินเหนียวตามขั้นตอน มีขนาดสองเท่าของพระองค์จริงตามสัดส่วน

พระบรมรูปเป็นท่าประทับนั่งบนเก้าอี้โปร่งบาง ไม่มีท้าวแขน สไตล์เก้าอี้เป็นแบบเชคโก ทรงพระสนับเพลาแบบฝรั่ง ฉลองพระองค์ยาวเกือบถึงพระชานุปักลวดลายแบบฝรั่ง พระกรด้านซ้ายทอดบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงถือทานพระกรทอดวางไว้บนโต๊ะข้างพระองค์ซึ่งมีพระมาลา พานพระศรี และพระสุพรรณศรี ทรงเหน็บพระแสงดาบ "หัตถ์นารายณ์ไว้ที่บั้นพระองค์" ด้วย ผู้ที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์อาจเข้าใจผิดว่า ทรงพระแสงดาบถึงสององค์ด้วยกัน

สำหรับแท่นซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ได้ออกแบบและปั้นหล่อเป็นทองแดงผสมทองเหลืองรมดำ เช่นเดียวกับองค์พระบรมราชานุสาวรีย์แสดงเรื่องราวดังนี้

ด้านหน้าเป็นพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านหลังเป็นตัวหนังสือจารึกพระราชประวัติ

รูปปั้นนูนต่ำด้านซ้ายของพระองค์เป็นรูปปั้นนูนต่ำแบ่งเป็นสองส่วน ตอนบนแสดงถึงเหตุการณ์ขณะท่านค้นคว้าวิชาดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ และขณะทรงผนวชอยู่ได้ทรงปรึกษากับท่านสังฆราช ปัลลกัวช์ ทรงช่วยในการแต่งพจนานุกรมภาษาไทย - ลาติน - ฝรั่งเศส-อังกฤษ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงติดต่อกับหมอสอนศาสนานิกาย โปรเตสเต็นท์ ชาวอเมริกัน คือมิสเตอร์ แคสแวลล์ หมอบรัดเลย์ และหมอเฮาซ์ ซึ่งได้ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่พระองค์พร้อม ๆ กับการถวายคำแนะนำด้านวิทยาการสมัยใหม่ อันได้แก่ วิชาดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการแพทย์ ด้านล่างแสดงถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งแม่กองสนามหลวงตรวจสอบภาษาบาลี และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

รูปปั้นนูนต่ำด้านขวาของพระองค์ แสดงถึงเรื่องเมื่อมหาสมาคมประทับบนพลับพลาค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ วันอังคารเดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๕ โมง ๓๖ นาที ๒๐ วินาที สุริยคราสจับเต็มดวงดังที่ทรงคำนวณ ทุกประการ ท่ามกลางการเฝ้าคอยสังเกตดูสุริยคราสจากนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม ทั้งไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงเชิญมาทั้งสิ้น ต่างก็ชื่นชมโสมนัสในความสำเร็จครั้งนี้ พระเกียรติยศในพระปรีชาญาณปรากฎเลื่องลือไปทั้วยุโรป เอเชีย และอมริกา เพราะทรงคำนวณสุริยุปราคาถูกต้องมากกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง ๒ วินาที

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในฐานะ "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" คุณไข่มุกต์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบ ปั้น และควบคุมการหล่อ นายมานพ สุวรรณปิณทะ เป็นช่างปั้นผู้ช่วยพระบรมรูปลอยตัว (ROUND-RELIEF) พันตรีนภดล สุวรรณสมบัติ นายพิทยา จั่นแย้ม เป็นช่างปั้นผู้ช่วยรูปปั้นนูนต่ำ (BAS - RELIEF) ประดับแท่นฐาน นายจินตรัตน์ พนมวัน ณ อยุธยา เป็นผู้หล่อ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว "ประวัติการก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ที่ได้รวบรวมขึ้น ในอดีต

คุณภูษิต โพธิ์แสง เรียบเรียงบทความ
แหล่งข้อมูล : หนังสือสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 - 24 สิงหาคม 2530

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» ประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ วท. ครั้งที่ 7/2559
» รายงานผลการสํารวจความคิดเห็น เกี่ยวกับยุทธศาสตร์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2559
» นโยบายในการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์)
» งบประมาณโดยสังเขป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
» แผนปฏิบัติการประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
» ยุทธศาสตร์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2559
» โครงการ สร้างความร่วมมือต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป