ภาพ : ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ
ภายใต้โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
แผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ.2547-2556) ในกลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคในสาขาที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านวิชาการทั้งการศึกษาและการวิจัยในระดับนานาชาติ และช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการสอนของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ด้านการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้ประเทศมีสมรรถภาพในการพึ่งตนเองและการแข่งขันในเวทีสากล มีคุณภาพและมาตรฐานชีวิตที่ดี และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างพลังร่วม (synergy) เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวทีสากล รวมทั้งประเทศไทยในฐานะที่เป็นประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีความพร้อมพอสมควรที่จะจัดทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ฝึกอบรม และวิจัยให้กับประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาศึกษา วิจัยและฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อพัฒนากำลังคนระดับสูง พัฒนาองค์ความรู้และทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการร่วมทางด้านยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศดังกล่าว ในการพัฒนาโดยผสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการเลือกสรรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา
การสร้างความสัมพันธ์ของนักวิชาการในระดับปัจเจกบุคคล และวิทยาการที่มีเอกภาพในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต สำนักงานจึงได้เสนอให้มีโครงการเครือข่ายความร่วมมือการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติในประเทศไทย (คศวท.) โดยใช้ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ (center of excellence: COE) ในสาขาที่มีศักยภาพ ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 9 ศูนย์ ครอบคลุม 9 สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ ได้แก่ ด้านเคมี ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและการจัดการ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย ด้านปิโตรเลียมและเทคโนโลยีปิโตรเคมี ด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และด้านคณิตศาสตร์และด้านฟิสิกส์
วัตถุประสงค์โครงการ คือ
1) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา วิจัย และฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับหลังปริญญาตรี โดยการจัดทุนให้กับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเชิญชวนนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก และนักวิจัยประสบการณ์สูง/ศาสตราจารย์อาวุโสจากต่างประเทศให้ดำเนินการวิจัยในประเทศไทย โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัย (Research Fellowships) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับนักวิจัยไทย ให้มีความสามารถและภาพลักษณ์ของความเป็นเลิศด้านการศึกษา วิจัย และฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่ประเทศไทยมีสมรรถภาพ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค
2) สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมั่นคงร่วมกัน โดยใช้กลไกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเจริญเติบโต และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านการดำเนินงานร่วมกันในการเสริมสร้างพื้นฐาน อันจะอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนอาเซียน (ASEAN Community) โดยรวม
ในปีงบประมาณ 2552 สวทน. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการฯ ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) และได้รับความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและแผน สกอ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบและให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวควรครอบคลุมไปถึงสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 9 ศูนย์ รวมทั้งครอบคลุมสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ อยู่ในระหว่างการรอผลการประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 9 ศูนย์ จึงยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในระยะต่อไป