ผงไหม คือ โปรตีนที่ผลิตมาจากส่วนของใยไหมซึ่งมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ผงไหมจากกาวไหม ที่เรียกว่าผงไหมซิริซิน และผงไหมจากเส้นใยไหม ที่เรียกว่า ผงไหมไฟโบรอิน ซึ่งมีทั้งชนิดที่ละลายน้ำและชนิดที่ไม่ละลายน้ำขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต
สทน. ได้ทำการวิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่าผงไหมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีกรดอะมิโนอยู่มากถึง 16-18 ชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง ทั้งยังช่วยรักษาปริมาณน้ำในผิวหนังกำจัดสิ่งสกปรกในเซลล์และยืดอายุเซลล์ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังพบว่า ผงไหมพันธุ์ไทยยังมีคุณสมบัติพิเศษบางชนิดที่เป็นคุณสมบัติเด่นในปริมาณที่ มากกว่าพันธุ์ไหมของต่างประเทศ เช่น มีสารช่วยป้องกันผิวแห้งและลดแอลกอฮอล์ในตับซึ่งมีมากกว่าถึง 3 เท่ามีสารช่วยความจำ ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจมากกว่า 2 เท่า และมีสารลดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและสารต้านไวรัส มากกว่าถึง 4 เท่า (เมื่อเทียบกับพันธุ์ไหมต่างประเทศ)
"ผงไหม" ยังมีสารที่ช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด สลายแอลกอฮอล์ในร่างกาย ช่วยความจำอีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ฯลฯ ดังนั้น หากนำมาผสมในอาหาร นอกจากจะเพิ่มคุณค่าสารอาหารยังมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผงไหมไปเป็นส่วนผสมได้ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น ไอศกรีม บะหมี่หมูยอ กุนเชียงที่ใส่ผงไหม ลักษณะจะนุ่มเหมือนกับของซึ่งทำออกใหม่ ลักษณะเนื้อเหมือนกับว่าผสมหมูเนื้อแดงในอัตราส่วนที่มากและสีสันยังสด เนื้อนุ่ม ชวนกิน ส่วนโยเกิร์ต หรือไอศกรีม จะทำให้มีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เนียนไม่ละลายง่าย บะหมี่ ทำให้มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม ไม่ยุ่ย
การผลิตโปรตีนไหม silk peptide จากผงไหมไทยด้วยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์
เพปไทด์ (peptide) คือ สายพอลิเมอร์ของกรดอะมิโนที่มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเพปไทด์ ปลายด้านที่มีหมู่อะมิโนเป็นอิสระเรียกว่าปลายเอ็น (N-terminal) ส่วนปลายที่มีหมู่คาร์บอกซิลเป็นอิสระเรียกว่าปลายซี (C terminal) การเรียกชื่อเพปไทด์จะเรียกตามลำดับกรดอะมิโนจากปลายเอ็นไปหาปลายซี เพปไทด์ขนาดเล็กหลายชนิดมีความสำคัญในสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันมีผู้นำเพปไทด์มาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารอย่างกว้างขวาง
สทน. ประสบความสำเร็จในผลิต silk peptide ที่มีอนุภาคขนาด 25-50 ไมครอน มีความสามารถในการละลายน้ำ 99.8% มีลักษณะเบาฟู ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ยาก มีสารปนเปื้อนประเภทโลหะหนักน้อยกว่าผงไหมที่ผลิตจากที่อื่น
การทดลองเพิ่ม "ข้าว" ด้วยโปรตีนไหม
สทน. ได้ทดลองฉีดสารละลายโปรตีนไหมกับข้าวหอมปทุมธานี เนื้อที่ 2 ไร่ เปรียบเทียบกับข้าวหอมปทุมธานีที่ไม่ได้ฉีดสารละลายโปรตีนไหม (เนื้อที่ 10 ไร่) ที่ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในแปลงติดกัน มีคันนาติดกัน เริ่มปลูกในวันเดียวกัน และปฏิบัติเช่นเดียวกันทุกขั้นตอน แตกต่างกันที่การฉีดพ่นสารละลายไหมเท่านั้นผลปรากฏว่า ข้าวหอมปทุมธานี แปลงที่ฉีดสารละลายโปรตีนไหม ให้สภาพต้นข้าวที่ดูแข็งแรง ใบเขียว ตั้งตรงกว่าต้นข้าวที่ไม่ได้ฉีด ออกรวงและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าประมาณ 7 วัน และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 38.75% คิดเป็นจำนวนเงินเพิ่มประมาณไร่ละ 2,900 บาท
ประโยชน์ของผลงาน
โครงการเพิ่มมูลค่าให้ไหมที่เป็นวัสดุเหลือใช้ เพิ่มโปรตีนในอาหาร และได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและสามารถเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรด้วย
การจำแนกการนำไปใช้ประโยชน์
การเพิ่มปริมาณผลผลิตการเกษตร
การค้า และบริการ
สาขาผลงาน : งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรและชีวภาพ
ชื่อผู้ผลิตผลงาน :
นางบุญญา สุดาทิศ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร