กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish

อาหารปั่นผสมสำเร็จรูป สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

พิมพ์ PDF

    อาหารทางการแพทย์ เป็นอาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่มีสภาพร่างกายผิดปกติ โดยทั่วไปอาหารทางการแพทย์มีการให้ทางสายอาหาร เพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะขาดอาหาร ผู้ที่ดูแลการให้อาหารทางการแพทย์ คือแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของสูตรอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล อาหารทางการแพทย์เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเมื่อประมาณ20 ปี จากการที่อาหารมีผลกระทบกับการเจ็บป่วย ทำให้เกิดอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดต่างๆ เช่น อาหารสำหรับโรคปอด โรคไต หรือโรคเบาหวาน ที่มีส่วนประกอบของอาหารต่างๆ กัน เพื่อให้เหมาะกับการเผาผลาญและดูดซึมในผู้ป่วยแต่ละโรค
    ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นคนไข้กลุ่มหนึ่งที่พบได้ทั่วไป ประมาณการว่าทั่วโลก มีผู้ป่วยเบาหวาน 98.9 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 215 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2553 ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดนี้ ครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน แต่อาจต้องควบคุมอาหารร่วมไปกับการรักษาด้วยยากินหรือฉีดอินซูลินร่วมด้วย ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลพบปัญหาเบื่ออาหารและกินได้ไม่เท่าที่ร่างกายต้อง การ มีปัญหาอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือไม่สามารถกินอาหารได้เองหลังผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยแผนกคอ หู จมูก หลังผ่าตัดบริเวณเหล่านี้ จะกินอาหารไม่ได้ ซึ่งต้องให้อาหารทางสายยางซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่เข้ารักษาอยู่ในโรงพยาบาล ดังนั้น การพัฒนาให้มีอาหารทางการแพทย์สำเร็จรูป จะสะดวกในการนำมาใช้กับผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 400 ล้านบาท
    ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สนับสนุน ศ.ดร.จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ และคณะจากภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนาอาหารทางการแพทย์ปั่นผสม เป็นอาหารสำเร็จรูป สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาหารทางการแพทย์สำเร็จรูปชนิดผงสำหรับผู้ป่วย เบาหวานขึ้น โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรที่ผลิตในประเทศ เพื่อสะดวกในการบริโภค มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน และราคาถูกกว่าอาหารสูตรจากต่างประเทศ
    จากการวิจัยสูตรอาหารสำหรับโรคเบาหวานปั่นผสม เป็นอาหารสำเร็จรูป แบบชงละลายน้ำ โดยใช้ผลิตผลทางการเกษตรในประเทศ ได้แก่ ฟักทอง กล้วย ข้าวโพด และมีสารอาหารหลักต่างๆ ครบถ้วนตามข้อกำหนดสารอาหารที่ควรบริโภคสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานของสมาคมโรค เบาหวานสหรัฐอเมริกาและข้อกำหนดปริมาณอาหารที่ควรได้รับประจำวันของคนไทย ส่วนอาหารอื่น เช่น วิตามินและเกลือแร่ สามารถเติมได้หลังทำเป็นผงสำเร็จแล้ว จากการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ พบว่าทำให้ปริมาณน้ำตาล และอินซูลินในเลือดของผู้ป่วยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเบาหวานที่ขายในท้องตลาด ที่สำคัญสูตรอาหารดังกล่าวยังผ่านการวิเคราะห์พบว่ามีสารอาหารครบถ้วน มีคอเลสเตอรอลน้อย ให้พลังงานอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีราคาต่ำกว่าอาหารสำหรับโรคเบาหวานทางการค้าอีกด้วย
    ไบโอเทค ได้ร่วมตกลงกับศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในรูป แบบโครงการอาหารสำเร็จรูปทางการแพทย์ ซึ่งหน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ใช้เทคโนโลยีผลิตอาหารสำเร็จรูปภายใต้ชื่อ NU-DM สำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมอาหารตาม ปกติได้

สาขาผลงาน : การแพทย์

ชื่อผู้ผลิตผลงาน :
ศ.ดร.จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ คณะภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป