ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม "โรคอุบัติซ้ำ" ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ปี พ.ศ.2548 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 45,893 ราย อัตราป่วย 74 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 71 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.15 รูปแบบการเกิดโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือมีผู้ป่วย มากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี กลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มอายุ 0-14 ปี และในกลุ่มอายุ15-24 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอัตราป่วยสูงขึ้น พบผู้ป่วยไข้เลือดออกกระจายทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้มีอัตราป่วยสูงกว่าภาคอื่นๆ ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543
การรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในแต่ละปี โดยการลดแหล่งการแพร่พันธุ์เพื่อควบคุมจำนวนยุงลาย ยังคงเป็นวิธีเดียวที่ใช้ควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน และใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงจึงมีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการควบคุมลูกน้ำ ยุงลายที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม สะดวกต่อการใช้ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทางเลือกหนึ่งในการป้องกัน ได้แก่ การควบคุมแมลงพาหะนำโรคไข้เลือดออกโดยใช้ชีวินทรีย์หรือจุลินทรีย์ที่เรียก ว่า บีทีไอ (Bacilus thuringiensis subsp. israelensis) ซึ่งสร้างโปรตีนสารพิษที่ฆ่าลูกน้ำยุงลายได้อย่างจำเพาะ ชีวินทรีย์นี้มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆไม่มีพิษตกค้างและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สนับสนุน กลุ่มนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์บีทีไอ สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำได้สำเร็จและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบีทีไอให้บริษัท ทีเอฟไอ กรีนไบโอเทค จำกัด ทำการผลิตแบคทีเรียบีทีไอ ให้นักวิจัยนำไปผสมทำสูตรสำเร็จ แบบเป็นเม็ด (แกรนูล) ออกฤทธิ์นาน ค่อยๆ ปลดปล่อยชีวินทรีย์ออกมาจากเม็ดแกรนูล
ชีวินทรีย์ควบคุมลูกน้ำยุงลายชนิดออกฤทธิ์นานถูกนำไปทดสอบประสิทธิภาพใน พื้นที่ชุมชนชนบทของอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนเมืองจำนวน 200 หลังคาเรือน เพื่อให้เกิดความยอมรับของชุมชนในการใช้ชีวินทรีย์ควบคุมลูกน้ำยุงลายในบ้าน โดยใส่ผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์ 20 กรัมในน้ำ 200 ลิตร ในน้ำใช้ทุกภาชนะของบ้านที่ทำการทดลอง และติดตามบันทึกผลการควบคุมลูกน้ำยุงลาย พบว่าควบคุมลูกน้ำยุงลายได้นานประมาณ 12 สัปดาห์ โดยปริมาณลูกน้ำยุงลายค่อยๆ ลดลงและหมดไปในสัปดาห์ที่ 3 และพบลูกน้ำยุงลายเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ 7 - 11ประชาชนผู้ใช้ชีวินทรีย์ควบคุมลูกน้ำยุงลายมีความพึงพอใจดี พอๆ กับการใช้สารเคมีทีมีฟอส
ประโยชน์ของผลงาน
องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย ได้นำผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์ควบคุมลูกน้ำยุงลายจำนวน 45 กิโลกรัมไปทดสอบในภาคเหนือของประเทศไทย ด้วยผลสำเร็จของการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวข้างต้นบริษัท ทีเอฟไอ กรีนไบโอเทค จำกัด ได้ติดต่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์สูตรออกฤทธิ์ นานควบคุมลูกน้ำยุงลาย เพื่อนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมและขึ้นทะเบียนจำหน่ายต่อไป
ชื่อผู้ผลิตผลงาน :
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กลุ่มนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล