กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish

เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-Box 3.0

พิมพ์ PDF

        T-box เป็นเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่  มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็น T-box 3.0มีการพัฒนาปรับให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงในพื้นที่ โดย เนคเทค สวทช ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม ในการให้คำปรึกษาและทดสอบเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ T-box มีประสิทธิภาพดีขึ้นและเหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยตรง

ลักษณะเด่นของ T-box 3.0

1. ใช้รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำให้เกิดการระงับหรือตัดขาดการใช้งานในบริเวณพื้นที่จำกัด
2. ใช้ในการรบกวนการส่งสัญญาณของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทยได้แก่ ระบบที่ใช้ความถี่ในช่วงคลื่น 800 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์  1800 เมกะเฮิรตซ์ 1900 เมกะเฮิรตซ์ และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และรองรับแหล่งจ่ายพลังงานจากไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ กระแสตรง 12 โวลต์ และ 24 โวลต์
3.  มีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าจากต่างประเทศในรุ่นที่มีกำลังส่งเทียบเท่ากัน
4.  การซ่อมแซมและบำรุงรักษาสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนมากสามารถจัดหาได้จากในประเทศ

       T-box ได้รางวัลดีเยี่ยมผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2552 ของสภาวิจัยแห่งชาติ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ผลงานเรื่อง “เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (T-box3.0)”   และ รางวัลชมเชยด้านผลงานเพื่อสังคม ประเภทบุคคลทั่วไป ของรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2551

    โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเนคเทค / สวทช. ได้ทำพิธีส่งมอบผลงานวิจัยและพัฒนา เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูง รุ่นล่าสุด (T-box 3.0) ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อให้กระทรวงกลาโหม นำไปใช้งานตามภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ อันนำมาซึ่งความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประเทศและประชาชน รวมทั้งลดงบประมาณรัฐในการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

    รัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก โดยให้ถือเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้เข้าไปมีส่วนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินเพื่อการจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษรวม 56 รายการ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายในวงเงินไม่เกิน 417,682,000 บาท ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอและให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพิจารณาทบทวนการจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนระดับ 3 เท่าที่จะใช้งานจริงไม่เกิน 300 ตัว เนื่องจากเป็นเสื้อเกราะที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากทำให้ไม่คล่องตัวและไม่สามารถสวมใส่ได้เป็นเวลานาน ในส่วนของรายการเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ขนาด 15 วัตต์ ให้จัดหาจากต่างประเทศเท่าที่จำเป็นบางส่วนก่อน และให้ประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ)ซึ่งสามารถผลิตเครื่องมือดังกล่าวได้แล้ว ผลิตเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ขนาด 15 วัตต์ จำนวน 88 เครื่อง เพื่อนำไปใช้ในภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

    ในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูง หรือ T-Box 3.0 ทีมนักวิจัยและพัฒนาของเนคเทค ได้มีการหารือกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดคุณสมบัติเพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้นำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการวิจัยเครื่องฯ รุ่น 1.0 ประกอบกับได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำ จากหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็นพันธมิตรการวิจัยและพัฒนากับ เนคเทค อาทิ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นต้น จนกระทั่งได้เครื่องต้นแบบอุตสาหกรรมของเครื่องตัดสัญญาณ

โทรศัพท์มือถือ ขนาด 15 วัตต์ รุ่น 3.0 หรือ ที่เรียกโดยย่อว่า T-Box 3.0 และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพ   กอ.รมน. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเครื่อง T-Box 3.0 ขึ้นมาทดสอบประสิทธิภาพในภารกิจด้านความมั่นคง นอกจากนี้ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลดีเยี่ยม ผลงานการประดิษฐ์คิดค้น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประจำปี 2552 จากสภาวิจัยแห่งชาติ อันเป็นเครื่องยืนยันในด้านเทคโนโลยีและคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานโดยตรง

    เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ T-Box 3.0 เป็นนวัตกรรมที่ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อทำการรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ให้สามารถใช้งานได้ในระยะที่กำหนดขึ้น มีการออกแบบให้เหมาะแก่สภาพการใช้งานภายในประเทศไทย โดยเฉพาะมีความคงทนต่อละอองน้ำ สะดวกและรวดเร็วต่อการเคลื่อนย้ายและสามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ครอบคลุมการรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกย่านความถี่ (800, 900, 1800, 1900 และ 2100  MHz) สามารถเลือกปรับระดับความแรงของสัญญาณที่จะใช้ในการรบกวนได้ และสามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรง และไฟฟ้ากระแสสลับ (AC/DC) โดยผลงานวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายด้าน อาทิ สามารถลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ มีมูลค่าถึง 70.4 ล้านบาท รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมทหารภายในประเทศ นอกจากนี้ยังลดค่าชดเชยกรณีการสูญเสียบุคลากรคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นกว่า 2,300 ล้านบาทต่อปี

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป