ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณเศษแก้วซึ่งไม่ได้นำกลับไปใช้ในกระบวนการ ผลิตแก้วอยู่เป็นจำนวนมาก ในต่างประเทศมีการนำเศษแก้วไปใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิเช่น ใช้เป็นตัวกรอง (filtration medium) ใช้ผสมในคอนกรีต ใช้เป็นวัสดุขัดสี (abrasive) ใช้เป็นตัวช่วยลดอุณหภูมิในเซรามิก (fluxingagent) ใช้เป็นตัวเติมในสี (filer) เป็นต้น การใช้เศษแก้วสำหรับทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรายหิน ดิน ฯลฯ ซึ่งนับวันมีแต่จะใช้หมดไป และยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมิให้มีปริมาณของทิ้งกองอยู่เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้ กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำ ผลิตภัณฑ์กระเบื้องจากเศษแก้ว สำหรับใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน
แก้วโซดาไลม์เป็นแก้วที่มีจุดอ่อนตัวอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 650o-700oC ที่อุณหภูมินี้ แก้วจะมีความหนืดลดลงและไหลตัวได้ ดังนั้นหากนำเศษแก้วมาบดให้ละเอียด นำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วให้ความร้อน ประมาณ 700o- 900oC จะทำให้อนุภาคของแก้วเกิดการเยิ้มตัวและเชื่อมต่อกัน (sintering) ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อแน่น การดูดซึมน้ำต่ำความแข็งแรงสูง เปรียบเทียบกับการเผาผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีความแข็งแรงเช่นนี้จะต้องใช้ พลังงานความร้อนมากเป็น2 เท่า ของการเผาผลิตภัณฑ์จากเศษแก้ว เพราะการเผาผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีเนื้อแกร่งจะต้องเผาที่อุณหภูมิ 1200oC ขึ้นไป
ขั้นตอนการทำกระเบื้องประดับตกแต่งจากเศษแก้ว เริ่มจากการบดและคัดขนาดเศษแก้ว นำไปขึ้นรูปในแบบดินเผาและเผาที่อุณหภูมิ 800-850 องศาเซลเซียส แล้วนำมาตกแต่งลวดลายและสีสันเพื่อเพิ่มความสวยงาม ใช้สำหรับตกแต่งอาคารบ้านเรือน
ประโยชน์ของผลงาน
เป็นการเพิ่มมูลค่าเศษแก้ว และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้พลังงานในการทำกระเบื้อง
สาขาผลงาน : เซรามิก
ชื่อผู้ผลิตผลงาน :
นางวรรณา ต.แสงจันทร์
นางสาวลดา พันธ์สุขุมธนา
หน่วยงานรับผิดชอบ : | กรมวิทยาศาสตร์บริการ |
ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม. 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2201-7000 | |
โทรสาร 0-2201-726 | |
เว็บไซต์ http://www.dss.go.th/ | |
อีเมล์ อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน |