ภาชนะบรรจุอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตอาหารสำเร็จรูป เพราะนอกจากจะป้องกันอาหารที่บรรจุไม่ให้เสื่อมสภาพแล้วยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารอีกด้วย เนื่องจากเมื่อบรรจุอาหารในภาชนะบรรจุอาหารจะมีการทำปฏิกิริยาเกิดขึ้นเป็นผลให้มีสารที่เป็นส่วนประกอบของภาชนะบรรจุอาหารเคลื่อนย้ายลงมาสู่อาหารที่บรรจุ โดยเฉพาะภาชนะบรรจุอาหารประเภทพลาสติก เพราะในกระบวนการผลิตภาชนะพลาสติกต้องมีสารเจือปนต่างๆ และสารที่ช่วยในการผลิตต่างๆ เช่น พลาสติไซเซอร์ สเตบิไลเซอร์ สารป้องกันยูวี เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้สามารถจะแพร่กระจายลงสู่อาหารได้ ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร โดยเฉพาะสหภาพยุโรปให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารหรือเรียกว่าวัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สัมผัสอาหาร (food contact materials) มากและมีการตรวจสอบหาข้อมูลของสารที่เคลื่อนย้ายจากพลาสติกลงมาสู่อาหารอยู่เป็นประจำ ในระยะเวลา ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ตรวจพบการปนเปื้อนของสารในกลุ่มพทาเลต (phthalate) และ ESBO (epoxidised soy bean oil) จากปะเก็นพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่ใช้ประกอบกับฝาโลหะเพื่อปิดขวดแก้วที่บรรจุอาหารประเภทน้ำพริกเผา ซอสปรุงรส ประเภทต่างๆ น้ำพริกแกง เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้สมาคมผู้ผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปประเทศไทยรายงานว่ามีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างปี 2551 ผู้ประกอบการส่งออกอาหารในประเทศไทยมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพลาสติไซเซอร์ดังกล่าวเนื่องจากสหภาพยุโรปจะผ่อนผันให้มีการปนเปื้อนลงสู่อาหาร ในปริมาณ 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมจนถึงเดือนมิถุนายน 2551 หลังจากนั้นสารพลาสติไซเซอร์ดังกล่าวต้องปนเปื้อนลงสู่อาหารในปริมาณไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์บริการให้พัฒนาการบริการทดสอบสารดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมกับกฎระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรป โดยสมาคมฯ ได้รวบรวมตัวอย่างจากผลิตภัณฑ์สมาชิก และตัวอย่างฝา 45 ตัวอย่าง ให้กรมวิทยาศาสตร์บริการมาดำเนินการวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการเจรจากับ คณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยผู้บริโภค ( European Commission Health and Consumer Directorate Chemicals, Contaminants and pesticides, DG-SANGO) ผลจากการเจรจาดังกล่าวทำให้สหภาพยุโรปยอมเลื่อนกำหนดวันบังคับใช้ จากเดือนมิถุนายน 2551 ไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2552
![]() |
นอกจากกรมวิทยาศาสตร์บริการจะให้บริการทดสอบปริมาณพลาสติไซเซอร์ในอาหารได้แห่งเดียวในประเทศไทยและได้ให้บริการทดสอบแก่ผู้ประกอบการ ส่งออกสินค้าอาหารประเภทนี้กว่า 10 รายแล้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการยังได้ร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีการทดสอบให้แก่ห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 10 ห้องปฏิบัติการ