ในการผลิตแก้วให้ใสโรงงานที่ผลิตแก้วที่ต้องใส่สารฟอกสี (เช่น ซีลิเนียม โคบอลต์) เพื่อกลบสีเขียวจากเหล็กอ๊อกไซด์ในแก้ว ขาดการควบคุมคุณภาพสีแก้วใสที่ถูกต้อง แต่โรงงานตัดสินความเบี่ยงเบนของสีโดยใช้สายตา ทำให้การวัดสีไม่ถูกต้องแม่นยำและไม่เป็นระบบ เมื่อเกิดปัญหาสีผลิตภัณฑ์กลายเป็นสีชมพูหรือเขียว จึงไม่เข้าใจสาเหตุที่ถูกต้อง ทำให้การแก้ไขล่าช้า จากการสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการ พบว่ายังขาดการควบคุมคุณภาพสีที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต กระบวนการผลิตที่ต่างกัน เช่น ใช้ pot furnace หรือใช้เตาต่อเนื่อง (day tank furnace) ทำให้เกิดสภาวะ รีดอกซ์สุดท้ายที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรมีระบบการควบคุมการฟอกสีให้เหมาะสมกับสภาพการผลิต
โครงการนี้จึงตั้งขึ้นเพื่อการควบคุมคุณภาพสีใส ซึ่งสามารถพัฒนามาตรฐานการควบคุมคุณภาพสีใสของผลิตภัณฑ์แก้วโซดาไลม์ซิลิกาในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีระบบ เพื่อให้โรงงานเข้าใจแนวทางในการควบคุมคุณภาพสีแก้วใสที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตและชนิดของผลิตภัณฑ์ของตน
การมีระบบควบคุมคุณภาพสีที่ดี ทำให้ความสูญเสียในขั้นตอนการผลิตลดลง ผลิตภัณฑ์แก้ว จะมีคุณภาพดีขึ้น สีใสและควบคุมได้สม่ำเสมอทุกครั้ง มีคุณภาพทัดเทียมเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ทำให้สามารถส่งออกจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เกิดกระบวนการควบคุมคุณภาพสีแก้วใสอย่างเป็นระบบในกระบวนการผลิต
2. โรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงสูตรเพื่อลดต้นทุนและใช้สารฟอกสีในปริมาณที่เหมาะสม
รายละเอียดและผลการดำเนินงาน
ได้เก็บตัวอย่างแก้วของโรงงาน เพื่อวัดคุณภาพสีตามระบบ CIE Lab ทั้งหมด 50 ตัวอย่าง ด้วยเครื่อง UV/VIS Spectrophotometer
พร้อมเก็บข้อมูลการผลิตของโรงงาน เช่น สูตรการผลิต แหล่งวัตถุดิบและองค์ประกอบทางเคมี อุณหภูมิในการหลอม เป็นต้น นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ตามแนวทางวิชาการ แนะนำการปรับปรุงสูตร และการใช้ปริมาณฟอกสีด้วยจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
![]() |
![]() |
งานวิจัยนี้เป็นการให้เทคโนโลยีทางด้านองค์ความรู้ เพื่อให้โรงงานมีความเข้าใจในทฤษฎีการวัดสีแก้ว การควบคุมและการใช้ปริมาณวัตถุดิบให้เหมาะสม เป็นการให้แนวทางเพื่อให้โรงงานสามารถควบคุมสีใสของแก้วด้วยตัวเองได้ในกระบวนการผลิต
กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัท แก้วปราการ จำกัด และได้นำเสนอผลงานโดยการสัมมนาให้กับ บริษัท เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552
![]() |