กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2552

พิมพ์ PDF

    

 

     การจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2552” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งนอกจาก จะเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ซึ่งได้ผลิตหรือคิดค้นผลงานนวัตกรรมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมความสำเร็จด้านนวัตกรรม ซึ่งมีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้ ตลอดจนจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและสนใจในเรื่องนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่การเกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ขึ้นในองค์กร ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท ใบประกาศเกียรติคุณ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยจัดพิธีมอบในวันนวัตกรรมแห่งชาติ (5 ตุลาคม)

     รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ  และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ระดับของความใหม่ กระบวนการบริหารจัดการ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรม ซึ่งในปี 2552  มีผลงานนวัตกรรมส่งเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 543 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ จำนวน 422 ผลงาน และผลงานนวัตกรรมด้านสังคม จำนวน 121 ผลงาน

 

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ

 

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม



ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติในปีนี้ 

     รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ “สงขลานครินทร์” โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมระดับโลกด้านอุปกรณ์การแพทย์สำหรับงานผ่าตัดเพื่อรักษาอาการชาจากโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ ผ่านแผลขนาดเล็ก 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยการออกแบบอุปกรณ์สำหรับสร้างช่องว่างระหว่างเส้นประสาท เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของช่องมองให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น จึงสามารถตัดพังผืดได้ง่ายและใช้เวลาในการผ่าตัดพังผืด เพียง 8-10 นาที นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงซึ่งมีโอกาสเสี่ยงถึงร้อยละ 5.6 ซึ่งการผ่าตัดด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเป็นปกติโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อครั้ง นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศได้อีกด้วย
 



     รางวัลชนะเลิศ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ “ฟอร์ท” ระบบชุมสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ขนาดเล็ก โดยบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ระบบชุมสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อทำให้ระบบมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพสูง โดยออกแบบสำหรับการให้บริการได้หลายประเภทในชุมสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เช่น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงระบบไฟเบอร์ทูโฮม ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคนไทยทำให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างชาติได้

 

 

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป