โครงการ GISTDA เพื่อชุมชน |
หลักการ/เหตุผล 1. เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและท้องถิ่นให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2. เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมคิด วิเคราะห์ วางแผน ช่วยเหลือ แก้ไข เพื่อพัฒนาชุมชนร่วมกับ GISTDA อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กร หน่วยงานภาครัฐและชาวบ้าน แนวคิด GISTDA นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาพัฒนาระบบข้อมูล GIS แผนที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล เข้าช่วยสนับสนุนชุมชนให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่โปรแกรมประยุกต์และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อใช้ในการการวางแผนชุมชน ทำให้ทราบข้อมูลต่างๆ ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างทันท่วงที ตลอดจนนำข้อมูลนั้น มาวิเคราะห์ วางแผน ช่วยเหลือ แก้ปัญหา และพัฒนา ในการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเป็นระบบ วิธีการดำเนินงาน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 โครงการพัฒนาระบบโปรแกรมประยุกต์และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อการวางแผนพื้นที่ผลิตสินค้าทางการเกษตร (อ.มะขาม จ.จันทบุรี/ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง/ อ.เขาสมิง จ.ตราด) จุดเริ่มต้น - จังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด ประสบปัญหาทางการเกษตรที่สำคัญ คือการมีผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่างๆ ในพื้นที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จะอยู่ในช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม - ต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ทำให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ มีผลต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัด จึงต้องการที่จะจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศของการใช้พื้นที่ทางการเกษตร เพื่อใช้บริหารพื้นที่การเกษตร ไม่ให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรกรรมตกต่ำด้วยการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่จะช่วยกำหนดการผลิตผลไม้นอกฤดูกาลมาใช้กับไม้ผลชนิดต่างๆ เพื่อให้ไม้ผลแต่ละชนิด ในแต่ละพื้นที่มีการทยอยออกสู่ตลาดโดยไม่ล้นตลาด หรือออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม โครงการที่ 2 โครงการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่หมู่บ้านเพื่อการรับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ต.แม่ลานนา อ.ลอง จ.แพร่ จุดเริ่มต้น - ขอบเขตของหมู่บ้านในอำเภอแม่ลานนาที่อยู่ติดกัน ภายใน 1 ตำบล มีปัญหาในเรื่องของการแบ่งปันเขตหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่บางรายตกสำรวจจากเขตหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อมีปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ/ ผลผลิตทางการเกษตร หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค จะไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ชุมชนจึงเห็นความสำคัญของการนำเสนอข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การแบ่งปันแนวสันปันเขตระหว่างหมู่บ้าน มีความถูกต้องแม่นยำ สามารถนำข้อมูลที่เป็นจริง ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด โครงการที่ 3 โครงการการจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศทางการเกษตรและระบบสืบค้นข้อมูลการเกษตร ต.ขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จุดเริ่มต้น - ตำบลขวัญเมือง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยเกษตรกรใช้ ประโยชน์ในการทำนา ทำไร่ ด้วยการอาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำจากธรรมชาติ ซึ่งในบางปีประสบภัยปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการตรวจสอบข้อมูลของเทศบาลอำเภอเสลภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่พบว่ายังไม่ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร และฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ทำให้เมื่อเกิดอุทกภัย หรือภัยแล้ง การให้ความช่วยเหลือหรือการจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหาย ก็จะทำได้ยาก ดังนั้น หน่วยงานในท้องถิ่นจึงเห็นถึงความสำคัญของการมีระบบภูมิสารสนเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ ที่ดินและทะเบียนเกษตรกรเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านการเกษตรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการที่ 4 โครงการจัดทำฐานข้อมูล GIS โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย จุดเริ่มต้น - ตำบลดอนศิลา มีปัญหาความยากจนของคนในชุมชน เนื่องจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ทำให้มีแนวโน้มการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่และสวนผลไม้ อีกทั้งปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม เกิดวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วม เป็นต้น จากสภาพปัญหาดังกล่าว GISTDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้นำระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการพัฒนาระบบข้อมูล GIS แผนที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล เข้าช่วยสนับสนุนชุมชนให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้ทราบข้อมูลต่างๆ ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างทันท่วงที ตลอดจนนำข้อมูลนั้น มาวิเคราะห์ วางแผน ช่วยเหลือ แก้ปัญหา และพัฒนา ในการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเป็นระบบ |
สถานที่ : จ.ระยอง, จ.จันทบุรี, จ.ตราด,จ.แพร่, จ.ร้อยเอ็ด, จ.เชียงราย กลุ่มเป้าหมาย : • ชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ระยอง, จ.จันทบุรี, จ.ตราด, ต.แม่ลานนา อ.ลอง จ.แพร่, ต.ขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ระยะเวลาดำเนินการ : ดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ถึงปัจจุบัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบแผนที่ชุมชนและระบบภูมิสารสนเทศให้กับพื้นที่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ด้านการบริหารจัดการ การวางแผน การพัฒนา และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน ผลที่คาดว่าจะได้รับ : • ชุมชนและท้องถิ่นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการใช้ประโยชน์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ • ชุมชนมีส่วนร่วมคิด วิเคราะห์ วางแผน ช่วยเหลือ แก้ไข ร่วมกับ GISTDA เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กร หน่วยงานภาครัฐและชาวบ้าน • ประชาชนเกิดความตระหนักว่าการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป |
เจ้าของโครงการ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) (สทอภ.) ประสานเจ้าที่ : คุณสรทัศน์ หลวงจอก โทร.081-499-5601 |