วันนี้ ( 5 พฤศจิกายน 2552) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดกิจกรรมและร่วมเสวนา มิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรม “กลวิทยาศาสตร์” โดยมี แพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ร่วมเสวนา ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อเอ่ยถึงวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว หลายๆคนโดยเฉพาะเด็กๆ มักจะมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายไม่อยากเรียน ทางสวทช .กระทรวงวิทย์ฯ จึงได้นำเสนอมิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า “กลวิทยาศาสตร์” ให้เด็กๆได้ทดลองและเรียนวิทยาศาสตร์สนุกสนานอย่างสมวัย เพื่อปูพื้นฐานตลอดจนกระตุ้นให้เกิดความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. มีโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโนฯ ตลอดจนบ้านวิทยาศาสตร์สิรินทร ซึ่งมีกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ต่างๆให้ศึกษาเรียนรู้ สิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องทำเพิ่มขึ้นคือ การขยายฐานความสนใจใฝ่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจและมาเข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ เป็นการสร้างให้เด็กและเยาวชนตระหนักและมีกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพตนเองและประเทศชาติในอนาคต
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช กล่าวต่อว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีทุนการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่เก่งและสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ สนับสนุนน้องๆ ทุกระดับ ที่สนใจเข้าค่ายบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ค่ายวิทยาศาสตร์ที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ได้ตลอดเวลา มีคาราวานวิทยาศาสตร์สัญจร กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่จามจุรีสแควร์ ในขณะเดียวกันเราได้ติดต่อขอความร่วมมือ ห้างร้านต่างๆ ขอใช้สถานที่เพื่อที่จะนำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ไปจัดให้เด็กได้สัมผัส ได้เล่น เช่น กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ โดยเชิญวิทยากรด้านต่างๆ มาให้ความรู้ มาทำกิจกรรม เสริมสร้างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์
ด้านแพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก กล่าวว่า ธรรมชาติของเด็กในช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะช่วง 3-6 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองอยากที่จะเรียนรู้ เป็นช่วงที่อยากรู้อยากเห็น หากได้รับการส่งเสริมเด็กก็จะพัฒนาไปเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีความรู้ มีทักษะต่างๆ ซึ่งความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างซักถาม คือคุณลักษณะหนึ่งของทักษะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาคน พัฒนาชาติ การส่งเสริมให้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ในวัยนี้ จะต้องนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะกับวัย เช่น กิจกรรมที่ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้ทดลองเอง หรือนำเสนอในรูปแบบที่เด็กชอบ สนุกสนาน เป็นการเล่น เช่นมายากล ซึ่งถ้ามีภาพ เสียง หรือการ์ตูนประกอบด้วย ก็จะดึงดูความสนใจของเด็กๆ และตามด้วยการอธิบายอย่างง่ายๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ของใกล้ตัว ก็เป็นการปลูกฝังให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังพัฒนาสมองในด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆกัน เช่น ทักษะการคิด การวิเคราะห์ การสังเกต ความเป็นเหตุเป็นผล
![]() |
จากนั้น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้ร่วมทดลองกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ทาง สวทช.ได้นำมาร่วมในงานนี้กับน้องๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4- 6 โรงเรียนมิสกวันด้วย เช่น การทดลองน้ำหายไปไหน ปลาวิเศษว่ายน้ำในขวด อาบน้ำให้ฝักบัว ลูกเด้งจากกาว ฯลฯ โดยแต่ละกิจกรรมได้สร้างความสนุกสนาน เด็กๆ มีความสนใจอยากที่จะเรียนรู้ และสนใจที่จะกลับไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น
![]() |
![]() |
สามารถติดตามความสนุกสนาน และเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกลวิทยาศาสตร์ได้ในกิจกรรมโอกาสต่างๆของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทุกวันเสาร์ เวลาประมาณ 07.00 น.
ผู้เขียนข่าว : น.ส.อุษา ขุนเปีย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2354 4466 ต่อ 120
ถ่ายภาพโดย : นายชัชวาลย์ โบสุวรรณ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2354 4466 ต่อ 199