(4 ตุลาคม 2552) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม “คุยกัน..ฉันท์วิทย์ กับ ชีวิตคุณหมอ” โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) บุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ด้านจักษุวิทยา) ประจำปี 2551 และนายแพทย์ภัทร วรวุทธินนท์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ได้รับรางวัลการประกวดประพันธ์บทเพลงของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมให้ความรู้ และพบกับมินิคอนเสิร์ต พริ้ง AF5 นางสาวสมฤทัย พรมจรรย์ มาร่วมให้ความสนุกสนานภายในงาน ณ ศูนย์การค้าเซ็นจูรี่ ชั้น 3 (โซนจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
น.พ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ เป็นผู้พัฒนางานด้านการศึกษา วิจัย และประเมินเทคโนโลยี ทางการแพทย์ด้านจักษุวิทยามาตลอดระยะเวลามากกว่ายี่สิบปี ตั้งแต่การปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงานและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยใช้หลักวิศวกรรมเข้ามาช่วยในหลายรายการซึ่งประหยัดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและบริการ จนถึงพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งเกิดผลดีต่อคุณภาพของการผ่าตัดตาต้อกระจก และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์สาขาจักษุวิทยา เป็นที่ยอมรับของจักษุแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นแหล่งการศึกษาดูงาน และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดการผ่าตัดผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยอัลตร้าซาวด์ ในที่ประชุมวิชาการทางการแพทย์สาขาจักษุวิทยาในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ฮ่องกง และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งผลงานชิ้นนี้ทำให้ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัล Best Surgeon Award จากการสาธิตผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยอัลตร้าซาวด์ ในการประชุม Video cataratta ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ปี 2551 มีผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านวิศวกรรม เช่น ออกแบบเครื่องตัดกระจกตา ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องควบคุมการสลับแหล่งจ่ายไฟฟ้า เครื่องเรียกพยาบาล การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ฐานข้อมูลผู้ป่วยจักษุวิทยา โปรแกรมจัดการธนาคารแว่นตา) การออกแบบและควบคุมอาคารบริการผู้ป่วย และโครงการหุ่นยนต์ตรวจตาทางไกล ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งได้รับรางวัล Inventor Award จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัลระดับดี จากงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2551
น.พ.ปานเนตร ให้ข้อคิดในการเรียนสายวิทยาศาสตร์ ว่า สมัยก่อนมีโรงเรียนกวดวิชาน้อย ดังนั้น เทคนิคการจำต้องสัมพันธ์กับการเรียนในในภาคปกติ ต้องฝึกให้มีวินัยในการเรียนและเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำความเข้าใจในเนื้อหาควรเริ่มจากจุดไหน อ่านแล้วต้องจดจะช่วยเตือนความจำได้ดี และก่อนสอบ 7 วัน ควรเว้นการอ่านหนังสือ ปล่อยสมองให้ว่างจะทำให้ทำข้อสอบได้ ส่วนการประกอบอาชีพแพทย์ ปกติใช้เวลาในการเรียนแพทย์ 4-6 ปี เมื่อจบจะเป็นแพทย์ทั่ว ๆ ไปก่อน จากนั้นจะแยกเรียนเป็นสาขา ใช้เวลาเรียน 2-3 ปี และต่อจากสาขาต่าง ๆ แล้ว ก็จะแยกเรียนเป็นสาขาเฉพาะทางอีก 5 ปี ผู้ที่สนใจที่จะประกอบอาชีพแพทย์ต้องศึกษาวิชาศิลปะด้วย ซึ่งจะช่วยในการเป็นแพทย์ได้อย่างมาก เพราะแพทย์ต้องมีฝีมือ เช่น การเย็บแผล การตกแต่งแผล และมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ เช่น คิดประดิษฐ์หุ่นยนต์ตรวจตา หรือสร้างหุ่นยนต์เพื่อผ่าตัดตา เป็นต้น
“ความสำเร็จในการประกอบอาชีพแพทย์ ประกอบด้วย 3 ประการ 1) ต้องได้ศรัทธาจากคนไข้ ควรดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด มีใจเอื้ออาทร 2) มีผลงานวิชาการนำเสนอ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับระหว่างแพทย์ด้วยกัน 3) มีผลงานวิจัยไปนำเสนอกับต่างประเทศ เช่น ได้รับเชิญไปบรรยายหรือสาธิตให้กับชาวต่างประเทศ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ น.พ.ปานเนตร กล่าวทิ้งท้าย”
น.พ.ภัทร วรวุทธินนท์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนแพทย์ ว่า การเรียนส่วนใหญ่จะเรียนกับอาจาย์ใหญ่ (ศพ) มากกว่าการจดในสมุด แรก ๆ ก็กล้า ๆ กลัว ๆ มาระยะหลังก็จะนำอาหารเข้าไปกินในห้องที่มีอาจารย์ใหญ่นอนอยู่หลาย ๆ คน (อืมส์…!!!) ถ้าใกล้สอบก็จะขอชิ้นส่วนอาจารย์ใหญ่ใส่กระเป๋าติดตัวขึ้นรถเมล์กลับบ้านไปด้วย ก็เคยมีกรณีที่ลืมมืออาจารย์ใหญ่ไว้บนรถเมล์เหมือนกัน (ฮ่า ฮ่า ฮ่า ) ถามว่ากลัวผีไหม ปกติเป็นคนที่กลัวผี และทุกวันนี้เวลาเข้าเวณตอนกลางคืนดึก ๆ เดินตามตึกต่าง ๆ ก็ยังกลัวอยู่ถ้าเห็นเงา ๆ ก็นึกเสียว่าอาจารย์ใหญ่มาให้พร (ขำ ขำ)
หวังว่าน้องที่มาร่วมงานในวันนี้ ได้ข้อคิดในการตัดสินใจประกอบอาชีพแพทย์ เพื่อเป็นคุณหมอในอนาคตต่อไป ติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ ที่มา : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Call Center 1313