กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลงานกระทรวง คุยกันฉันท์วิทย์ ทันโลก ทันวิทย์ ในงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556”

ทันโลก ทันวิทย์ ในงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556”

พิมพ์ PDF

 

        เริ่มแล้วอย่างยิ่งใหญ่งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556” ภายใต้แนวคิด “ทันโลกทันวิทย์ จุดประกายความคิด สู่อาเซียน” พบกับกิจกรรมไฮไลท์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ “ชิมีร่า” หุ่นยนต์จากจินตนาการที่ผสมผสานสัตว์ 3 สายพันธุ์จากญี่ปุ่น  การทำหมันแมลงวันทอง การผลิตน้ำมันที่สกัดจากสาหร่าย และ ตื่นตาตื่นใจกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งของไทยและเทศอีกมากมาย พร้อมเปิดตัว 2 พรีเซ็นเตอร์ของงาน เต้ย พงศกร เมตตาริกานนท์  และ พลอย  ภัทรากร ตั้งศุภกุล แห่งละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายรัชชานนท์ ที่มาชวนให้อัพเดทวิทยาศาสตร์ในวันเปิดงาน เริ่มแล้ว 6 – 21 สิงหาคม 2556 นี้ เต็มพื้นที่ไบเทค บางนา และ 14 – 18 สิงหาคม 2556 ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์


           ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา - 6 สิงหาคม : ดร. พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล- อดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยกิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ และในภูมิภาคเอเชีย จากการผนึกกำลังทั้งภาครัฐและเอกชน จากในและต่างประเทศกว่า 150 หน่วยงาน ซึ่งพร้อมนำองค์ความรู้และผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม เพื่อกระตุ้นความสนใจและเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการนำวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป


           โดยไฮไลท์สำคัญของปีนี้ยังคงเป็นนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พบกับนิทรรศการย้อนอดีตไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ย้อนรอยสยามประเทศ เปิดประตูสู่โลกตะวันตก การเปิดรับวิทยาการ และการเริ่มต้นกำหนดเวลามาตรฐาน “หอนาฬิกาภูวดลทัศนัย” และ พระอัจฉริยภาพในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา โดยมีไฮไลท์สำคัญเป็น  “เครื่องฉายดาว” และอุปกรณ์มัลติมีเดียซึ่งสามารถแสดงภาพกลุ่มดาวได้อย่างแม่นยำและสวยงาม  ขณะเดียวกัน ยังมีนิทรรศการเทิดพระเกียรติที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ที่ทรงนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทดลองประยุกต์ใช้ พบกับนิทรรศการ “บ้านของพ่อ ห้องทดลองมีชีวิต” และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ รวมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย


          ที่สำคัญปีนี้ยังเป็นปีสากลแห่งความร่วมมือเรื่องน้ำ ตามมติขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้จัดให้มีโซนพิเศษที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ อาทิ ล่องนาวาไปกับ “Simulator 4D” ที่จะพาผู้ชมร่วมผจญภัยไปกับการเดินทางของสายน้ำ เริ่มจากหยดน้ำเล็ก ๆ จนถึงมหาสมุทร อีกเรื่องที่พลาดไม่ได้  คือ การสัมผัสกับ “หุ่นยนต์ชิมีร่า” จากประเทศญี่ปุ่น สัตว์ในจินตนาการที่ผสมผสานสัตว์ 3 สายพันธุ์ คือ เสือ แพะ และงู โดยมีความสูงขนาดเท่าคนจริงและเคลื่อนไหวได้ด้วยระบบไฮโดรลิกค์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมายมาย อาทิ ห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ , ลานกิจกรรมพัฒนา ปัญญาเยาว์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน , เวทีส่วนกลาง เพื่อจัดกิจกรรมหมุนเวียนตลอดงาน , ลานกิจกรรมประกวดการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ , แสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ , ห้องฉายภาพยนตร์ทางวิทยาศาสตร์ , กิจกรรมประชุมสัมมนา , กิจกรรมการอบรมสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างอาชีพ ตลอดจนการแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย


          ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ  ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า งานนี้เป็นการผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กระทรวงศึกษาธิการ,  กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงอุตสาหกรรม และอีก 16 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือจากอีก 7 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ที่ยินดีนำผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศของตนมาจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ ประกอบกับมีหน่วยงานอีกมากมาย อาทิ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน ชมรม และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ที่พร้อมนำนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์มาจัดแสดงและให้ความรู้ในงานเป็นจำนวนมาก เต็มพื้นที่บนไบเทค บางนา โดยในส่วนของหน่วยงานเหล่านี้มีไฮไลท์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การจัดแสดงดาวหางจำลอง และการนำอุกกาบาตจากนอกโลกมาโชว์ให้เด็กๆ ได้ชม การผลิตน้ำมันที่สกัดจากสาหร่าย หุ่นยนต์นะโมและรถไฟฟ้า การฉายแสงซินโครตรอน แสงแห่งอนาคต (light for the future) รวมถึงการค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยที่เพิ่งได้รับพระราชทานนามว่า “มดต้นไม้สิรินธร” เป็นต้น


           รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ยังจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เนื่องจากได้รวมเอากิจกรรมวันเทคโนโลยีไทย หรืองาน “เทคโนมาร์ท” ที่ปกติจะจัดขึ้นในช่วงวันเทคโนโลยีไทย 19 ตุลาคม ของทุกปี มาอยู่ในงานนี้ด้วย เพื่อให้เกิดความยิ่งใหญ่ในระดับอาเซียน โดยในส่วนนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำผู้ประกอบการ และผู้ซื้อหรือผู้ใช้เทคโนโลยีมาพบกัน รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ผลงานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย ตลอดจนสร้างโอกาสการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อันจะเป็นการต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานในส่วนนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 6 – 21 สิงหาคม 2556 ที่ Hall 6 ไบเทค บางนา และวันที่ 14 – 18 สิงหาคม 2556 ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

          ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวตอกย้ำถึงความพร้อมในการบริหารจัดการในทุก ๆ ด้านสำหรับการรองรับผู้เข้าชมที่หลั่งไหลมาเข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทุกหน่วยงานนี้ร่วมจัดงาน พร้อมแล้วที่จะให้บริการในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ความพร้อมของสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบจราจรภายใน การรักษาความปลอดภัย การปฐมพยาบาล การต้อนรับ และจัดลำดับการเข้าชมงาน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลนักเรียน เยาวชน และผู้เข้าเยี่ยมชมงานที่มาเป็นหมู่คณะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าชมตลอดระยะเวลาของการจัดงานอีกด้วย


          ทั้งนี้ เยาวชน ครอบครัวและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556”  ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 6 - 21 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 - 20.00 น. ณ ไบเทค บางนา และ ในวันที่ 14 - 18 สิงหาคม 2556 ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 10.00 – 20.00 น. สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมได้ที่ โทร. 0 2577 9960
           นอกจากนี้ ยังสามารถพบกับ 2 พรีเซ็นเตอร์ของงาน เต้ย พงศกร เมตตาริกานนท์ และพลอย ภัทรากร  ตั้งศุภกุล แห่งละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอนคุณชายรัชชานนท์ ได้ภายในงานและติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nstf2013.com/
www.facebook.com/nstf2013/
instagram ที่ nst2013thailand และ
call center 1313
 
 

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 02 333 3728-32

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป