กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ เรื่อง “ปลิง!! สัตว์มหัศจรรย์ใต้ท้องทะเล” ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2553 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553
![]() |
![]() |
อาจารย์อารมณ์ มุจรินทร์ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. กล่าวว่า ปลิงทะเล...ไม่ใช่ปลิงน้ำจืด ปลิงทะเลเป็นสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนา (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก และเม่นทะเล ในขณะที่ปลิงน้ำจืดเป็นสัตว์ในกลุ่มหนอนปล้อง (Annelida)ได้แก่ ไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด เป็นต้น
ปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนปลิงน้ำจืด แต่กินเศษซากอินทรียสารเป็นอาหาร ปลิงทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในกลุ่มสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวขนนก ดาวเปราะ และเม่นทะเล
ปลิงทะเลอาศัยอยู่ในเขตแนวชายฝั่ง ดำรงชีวิตเป็นสัตว์หน้าดินทั้งหมด (หากินอยู่บนพื้นท้องทะเล) มีการแพร่กระจายได้ทุกๆ ความลึก สามารถที่จะปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งที่อยู่ได้หลายแบบ เช่น ในแนวประการัง, หาดทราย, หาดหิน, แนวสาหร่าย และแหล่งหญ้าทะเล
ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว ผิวลำตัวมีทั้งหนา บาง แล้วแต่ชนิด ปลายลำตัวด้านหนึ่งเป็นปากและอีกด้านหนึ่งเป็นทวารรอบๆ ปากมีหนวด 10-30 เส้น ทำหน้าที่จับอาหารเข้าสู่ปาก โดยทั่วๆ ไปมักจะนอนอยู่นิ่งๆ อยู่กับที่ หรือถ้าต้องการเคลื่อนที่ก็จะใช้เท้าท่อ (tube feet) เป็นตัวขยับเดินในผนังลำตัวมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหนา และมีแผ่นหินปูนขนาดเล็กที่เรียกว่า สปิคุล (spicules) ฝังตัวอยู่ในชั้นผนังกล้ามเนื้อ แยกเป็นเพศผู้และเพศเมีย จับคู่ผสมพันธุ์ โดยตัวผู้และตัวเมียจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกันในน้ำทะเล
![]() |
![]() |
ชื่อขำๆ...ของปลิงทะเลในแต่ละท้องถิ่น เช่น ระยอง เรียกปลิงดำ (มี 2 ชนิดคือปลิงดำตัวนิ่มและปลิงดำตัวแข็ง) ว่า “ตัวทาก” หรือ “ทากทะเล” เหตุเพราะ หน้าตาเหมือนตัวทากที่อยู่ในป่า จึงเรียกเช่นนั้น จ.กระบี่ เรียกปลิงดำตัวนิ่มว่า “ดอเทศ” และเรียกปลิงดำตัวแข็งว่า “ดอไทย” เหตุเพราะ ปลิงดำตัวนิ่มมีขนาดใหญ่กว่าปลิงดำตัวแข็งเลยเรียกเช่นนั้น
ปลิงทะเลเป็นสัตว์ที่เกินเศษซากเป็นอาหาร โดยเวลากินจะกินทรายที่มีเศษซากอินทรียสารปะปนอยู่ ระบบย่อยอาหารของมันจะย่อยทั้งทรายและอาหารของมันไปพร้อมกัน จากนั้นจะเลือกดูดซึมสารอาหารที่มันต้องการ สุดท้ายปลิงทะเลจะถ่ายมูลที่เป็นทรายที่ถูกคัดเลือกเศษซากไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่า ทรายที่ผ่านกระบวนการย่อยอาหารของปลิงทะเลหรือทรายที่ปลิงทะเลถ่ายออกมา จะสะอาดกว่าทรายที่ปลิงทะเลกินเข้าไปนั่นเอง ดังนั้นท้องทะเลไหนมีปลิงทะเลอยู่มาก ที่นั่นก็จะมีทรายที่ขาวสะอาดกว่าที่อื่นๆ
![]() |
![]() |
หลายคนเคยเห็นแต่ปลิงทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือปลิงดำ หน้าตาเหมือนหนอนตัวมหึมา เลยเข้าใจว่า ปลิงทะเลทุกชนิดจะมีหน้าตาเป็นเช่นนั้น แต่จริงๆ แล้วปลิงทะเลที่สวยๆหน้าตาดีก็มี โดยเฉพาะในกลุ่มปลิงทะเลที่มีหนวดแบบกิ่งไม้ เช่น ปลิงแอปเปิ้ล ที่มีการนำมาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงาม เช่น ปลิงหนวดกิ่งสีชมพู ปลิงหนวดกิ่งเขียว ปลิงส้ม เป็นต้น
ปลิงทะเลที่มีหน้าตาแปลกๆ ที่หลายคนไม่รู้จัก เช่น ปลิงสร้อยไข่มุก ปลิงหัวมัน เป็นต้น ปลิงทะเลตัวใหญ่ๆ ก็มี บางตัวสีสันฉูดฉาด เช่น กลุ่มปลิงหนามใหญ่ เป็นต้นปลิงทะเลอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ได้ ปลิงทะเลในกลุ่มหนวดขนนก มักจะอาศัยเกาะอยู่บนตัวฟองน้ำทะเลหรือปะการัง เพื่อเก็บเศษซากตะกอนที่เกาะติดกับตัวสัตว์เหล่านั้นกินเป็นอาหาร มีสัตว์บางชนิดอาศัยอยู่บนตัวของปลิงทะเล โดยอาศัยเศษอาหารที่ปลิงทะเลกินเหลือ เช่น ปูจิ๋ว กุ้งจิ๋ว เป็นต้น ปลาสกุล Carapus เป็นปลาที่อาศัยออยู่ในช่องทวารของปลิงทะเลชนิด Bohadschia argus โดยบางครั้งปลาก็แอบกินอวัยวะภายในของปลิงทะเลบ้าง แต่ปลิงทะเลก็สามารถงอกอวัยวะนั้นขึ้นมาใหม่ได้
การป้องกันตัวและการอยู่รอด ของปลิงทะเล มีหลายวิธี อาทิ การพ่นเส้นใยเหนียวสีขาวใส่ศัตรู ทำให้ศัตรูเกิดความรำคาญและเลิกล้มความตั้งใจ และปลิงทะเลจะใช้หลักการที่ว่า “เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” เป็นวิธีที่น่าทึ่ง แต่ก็ใช้ได้ผลดี นั่นคือ การคายอวัยวะภายในออกมาให้ศัตรูมันกิน จากนั้นปลิงทะเลก็สามารถงอกอวัยวะภายในเหล่านั้นได้ใหม่ และอีกวิธีหนึ่งคือ การแตกแยกของผนังลำตัว คล้ายกับการถอดเสื้อให้ศัตรูของมันไป จากนั้นก็ทอเสื้อขึ้นมาใหม่นั่นเอง
การเอาตัวรอดในวัยเยาว์ของปลิงทะเลขณะยังเล็ก นับว่ามีความเสี่ยงจากสัตว์น้ำน้อยใหญ่ที่จ้องจะกินมัน แต่มีลูกปลิงทะเลบางชนิดที่มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างของตัวเองให้เหมือนกับสัตว์ที่มีพิษ ไว้หลอกสัตว์น้ำอื่นๆ ว่า “ฉันคือทากเปลือยที่มีพิษนะ อย่ามากินฉันเด็ดขาด เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน”
อาจารย์อารมณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลิงทะเลยังเป็นทางเลือกหนึ่งทางการแพทย์ ทางการแพทย์ได้มีการสกัดสารจากผนังลำตัวปลิงทะเลพบว่ามีสารโฮโลท็อกซิ (Holotoxin) ที่มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด และยังได้พัฒนาไปใช้ยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งด้วย นอกจากนี้เส้นใยสีขาวของปลิงทะเลบางชนิด ยังมีสารโฮโลทูริน (Holothurin) ที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท จากคุณสมบัตินี้ได้นำมาใช้ในการบำบัดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
![]() |
![]() |
ผลิตภัณฑ์ทางยาของปลิงทะเล
ปลิงทะเลนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศแถบตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สำหรับในประเทศไทยในปี ค.ศ.1996 การค้าปลิงทะเลทั่วโลกมีปริมาณ 6,558 ตัน คิดเป็นมูลค่า 58.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (Jaquemet & Conand, 1999) สำหรับในประเทศไทยพบการทำประมงปลิงทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกมาเป็นเวลานานแล้ว จากสถิติการประมงแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2532 พบว่า มีการทำประมงปลิงทะเลมากที่สุดในปี พ.ศ.2521 ปริมาณ 226 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.27 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.35 ตัน (กรมประมง, 2525, 2534) แต่ในปัจจุบัน การค้าขายปลิงทะเลส่วนใหญ่จะอยู่จำกัดในพื้นที่ตลาดเยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด
ปลิงทะเลเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนการสูง มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ความสนใจในการวิเคราะห์หาคุณค่าอาหารจากปลิงทะเล พบว่า ในเนื้อของปลิงทะเลอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มิวโคโปรตีน (mucoprotein)” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน เอ็น การบริโภคปลิงทะเลจึงสามารถบรรเทาปัญหาการเสื่อมสมรถนะของข้อ กระดูก ในผู้สูงอายุได้ ปลิงทะเลมีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยแมลงภู่ และหอยลาย แต่มีไขมันต่ำที่ต่ำกว่ามาก ดังนั้น ปลิงทะเลจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่ควบคุมไขมันได้เป็นอย่างดี
ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดเสวนาคุยกัน..ฉันท์วิทย์ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk
สนับสนุนข้อมูลโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เรียบเรียง : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์
ผู้เผยแพร่ข่าว : ศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพโดย : สุนิสา พากเพียร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
โทร. 0 2333 3700 ต่อ 3730, 3732