กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลงานกระทรวง คุยกันฉันท์วิทย์ การเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง “ระบบโทรมาตร เกาะติดสถานการณ์น้ำ”

การเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง “ระบบโทรมาตร เกาะติดสถานการณ์น้ำ”

พิมพ์ PDF

     
   (26 พฤษภาคม 2553) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) จัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ เรื่อง “ระบบโทรมาตร เกาะติดสถานการณ์น้ำ” ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า  สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนายมงคล  ศิโรรัตนรังสี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนา พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ  นายชินวัฒน์  พรหมมาณพ  หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี  จ.ปัตตานี  เป็นตัวแทนภาคราชการที่ได้นำเอาเทคโนโลยีโทรมาตรไปประยุกต์ใช้งานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  นางวิไล  เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการติดตั้งสถานีโทรมาตรกว่า 400 สถานีทั่วประเทศ

 นายมงคล  ศิโรรัตนรังสี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สภาพอากาศปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พฤติกรรมในการดำรงชีวิตต้องปรับเปลี่ยนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที จากความต้องการข้อมูลสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ เพื่อนำไปใช้ในการติดตามสภาพน้ำและสภาพอากาศสำหรับบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเตือนภัย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงนำเรื่อง “ระบบโทรมาตร เกาะติดสถานการณ์น้ำ” มาให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย และตัวอย่างการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และชีวิตประจำวัน

 โครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการติดตั้งสถานีโทรมาตรฯ ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี จ.ปัตตานี กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรเคลื่อนที่ขนาดเล็กจำนวน 31 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรตามสถานีเครือข่ายของบริษัทฯ กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผลจากการนำข้อมูลที่ได้จากสถานีโทรมาตรที่ติดตั้งจากการร่วมมือดังกล่าวข้างต้นนั้น ทำให้ทราบถึงสภาพน้ำและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ รวมไปถึงการเตือนภัยปริมาณน้ำฝน น้ำในเขื่อน พายุ และการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อไป

   นายชินวัฒน์ พรหมมาณพ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี จ.ปัตตานี กล่าวว่า เทคโนโลยีโทรมาตร คือ กระบวนการส่งข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามายังนักบริหาร  เพื่อให้ประมวลผลและตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ  โดยการส่งข้อมูลเป็นตัวเลขแล้วแปรตัวเลขเป็นวิธีทางธรรมชาติว่ามีภัยอันตรายหรือไม่มีภัยอันตรายอย่างไร  เทคโนโลยีโทรมาตรดั่งเดิมก็คือเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ในอดีตไม่มีมือถือ การส่งข้อมูลก็จะใช้โทรศัพท์ส่งข้อมูลบางครั้ง 5-6 วันกว่าข้อมูลจะมาถึง และก็พัฒนาขึ้นมาใช้วิทยุวอคกี้ทอคกี้ในการส่งข้อมูล  หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเป็นโทรมาตรใช้ระบบคลื่นวิทยุ แต่ปัญหาในการใช้ระบบคลื่นวิทยุก็ยังมีปัญหาคือติดตั้งเครื่องวันนี้อีก 7 วัน ฟ้าผ่า ก็ต้องรองบประมาณในการซ่อมแซมกว่าจะได้ซ่อมก็รอปีหนึ่ง คือ รองบประมาณ  หลังจากซ่อมเครื่องเสร็จอีก 7 วัน ฟ้าก็ผ่าอีก  พอน้ำท่วมก็ไม่สามรถเตือนภัยล่วงหน้าได้  จึงคิดว่าน่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่ช่วยเตือนภัยได้ และจะมีวิธีใดบ้างในการส่งข้อมูลได้  ทำไมเวลาฝนตกโทรศัพท์มือถือส่งข้อมูลที่เป็นคำพูดได้  จึงเป็นที่มาในการประยุกต์ใช้เครื่องโทรมาตรร่วมกับเครือข่าย AIS ในการส่งข้อมูลผ่านเครื่องระบบโทรมาตร
ปัจจุบันข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถดูในโทรศัพท์มือถือ  เปิดดูได้ทุกเวลา ทันสมัย ราคาไม่แพง  ติดตั้งได้ง่าย  เข้าถึงเทคโนโลยีและมีงานวิจัยรองรับ

  นายชินวัฒน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การจัดการด้านภัยพิบัติ มีขั้นตอนของการเตือนภัย ซึ่งมีพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน  มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังและเตรียมพร้อมอพยพประชาชน          

   นางวิไล เคียงประดู่  ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานประชาสัมพันธ์บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โทรมาตรเป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าต่างๆ  ได้แก่ ปริมาณน้ำ ความกดอากาศ ความชื้น  อุณหภูมิ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบในการประมวลผลและนำไปบริหารจัดการน้ำในประเทศ   สสนก. จะมีเครื่องมือโทรมาตรอยู่   ส่วน AIS  จะเข้ามามีบทบาทในด้านสถานที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์  และเส้นทางลำเรียงข้อมูลจากสถานีต่าง ๆ กลับเข้ามายังส่วนกลางและนำข้อมูลไปบริหารจัดการน้ำ  เช่น ในหน้าแล้งจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้อย่างดี   หรือในหน้าฝนจะเตรียมตัวอย่างไรที่จะรับสภาวะน้ำท่วมตามจุดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น  ที่สำคัญจะรู้ได้อย่างไร  ว่าแล้ง หรือน้ำท่วม  AIS จึงร่วมมือกับ สสนก.นำเครื่องโทรมาตรไปติดตามสถานีฐานต่าง ๆ ของ AIS  ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และการติดตั้งตามสถานีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ สสนก. ว่าจะนำเครื่องโทรมาตรไปติดตั้งที่สถานีฐานไหน  เมื่อกำหนดแล้วก็จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากสถานีฐานแล้วส่งข้อมูลมาตามเครือข่ายของ AIS  และส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง  ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเครือข่ายโทรศัทพ์ไม่ได้มีประโยชน์ในการพูดคุยกันธรรมดา หรือส่ง SMS เท่านั้น ยังเป็นช่องทางในการส่งฐานข้อมูลที่ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนอยู่ดีขึ้นด้วย 

   นางวิไล กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากการนำเครื่องโทรมาตรไปติดตั้งยังสถานีฐานต่าง ๆ ทำให้เครื่องโทรมาตรมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1.ทำให้เก็บข้อมูลได้มากขึ้น  2.ความแม่นยำของข้อมูล  3.ความถี่ในการส่งข้อมูลมาประมวลผลในส่วนกลางได้ทุก 10 นาที   นอกจากหน่วยงาน  สสนก. กรมชลประทาน ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้แล้ว  ขณะนี้ AIS กำลังศึกษาร่วมกับ สสนก.  จะนำข้อมูลบางส่วนส่งให้ประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของ AIS ที่ได้รับผลกระทบ ได้ทราบข้อมูลการเตือนภัยในอนาคตต่อไป     

 

ท่านสามารถติดตามข่าวสาร  การจัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์  ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่   http://www.most.go.th/scitalk

 

สนับสนุนข้อมูลโดย :  สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สสนก.

 

ผู้เขียนข่าว  :  กมลวรรณ  เอมสมบูรณ์ 

ผู้เผยแพร่ข่าว : ศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» เสาวนาแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย Thailand-Japan Human Resources Development Initiative (Timeline Suthichai )
» กระทรวงวิทย์ฯ ชวนเยาวชนเล่นกลวิทยาศาสตร์จากของใช้ในบ้าน
» กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชวนเยาวชนร่วมเปิดฟ้าสัมผัสประสบการณ์ใหม่ วิทยาศาสตร์อากาศยาน : เครื่องบินจำลอง
» เสวนาคุยกัน..ฉันท์วิทย์ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านทรัพยากรน้ำและด้านทรัพยากรป่าไม้”
» มหัศจรรย์ของธรรมชาติ ในนิทรรศการ “อัจฉริยะธรรมชาติ...สร้างสรรค์เทคโนโลยี”
» เชิญร่วมกิจกรรมคุยกัน..ฉันท์วิทย์ “อัจฉริยะธรรมชาติ..สร้างสรรค์เทคโนโลยี ”
» เสวนา มิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “กลวิทยาศาสตร์ กับ สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์”
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป