(21 เมษายน 2553) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ร่วมกับ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมคุยกัน...ฉันท์วิทย์ เปิดตัวนิทรรศการ“อัจฉริยะธรรมชาติ..สร้างสรรค์เทคโนโลยี” โดยมี นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ดำเนินงานบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งมีพันธกิจส่วนหนึ่งคือการส่งเสริม พัฒนา เด็ก เยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์ และบุคลากรที่เกี่ยวกับกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เช่น ครู อาจารย์ และนักวิชาการ ผ่านการจัดกิจกรรมและสร้างแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น นิทรรศการกึ่งถาวร ค่ายวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรม สัมมนาวิชาการ การส่งเสริมนวัตกรรมผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยในปี 2553 นี้ มีแนวคิดการจัดงานภายใต้หัวข้อ “อัจฉริยะธรรมชาติ สร้างสรรค์เทคโนโลยี” เพื่อแสดงถึงความสามารถอันทรงประสิทธิภาพของธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการพัฒนาและวิวัฒนาการมายาวนาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นตัวอย่างการนำต้นแบบจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่เพียงทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่ยังคงอยู่กับธรรมชาติได้อย่างดีอีกด้วย
![]() |
ด้าน นางฤทัย จงสฤษดิ์ ฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า นิทรรศการในปีนี้จะเน้นการ จัดกิจกรรมแบบอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อให้ผู้เข้าชม ได้สนุกกับการเรียนรู้ เล่น ลงมือทดลอง ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น โดยภายในนิทรรศการจะมีเนื้อหาแบ่งออก 5 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 อัจฉริยะธรรมชาติ โซนที่ 2 ความลับของต้นไม้ โซนที่ 3 เราจะเดินทางไปด้วยกัน โซนที่ 4 บ้านทันสมัย หัวใจอบอุ่น และโซนที่ 5 รักษ์โลก ดูแลโลกของเรา
“ สำหรับไฮไลต์ของงงานจะแฝงอยู่ในทุกโซนนิทรรศการ เช่น โซนความลับของต้นไม้ จะมีการจัดทำอุโมงค์ใบไม้ขนาดยักษ์ ที่จะนำพาผู้เข้าชมไปพบกับโครงสร้างต่างๆของใบไม้ เช่น ท่อน้ำ ท่ออาหารของพืช ทำความรู้จักกับเซลล์ของพืช พร้อมทั้งร่วมค้นหาคำตอบว่า พืชมีรูปแบบการเรียงใบ ดอก ผล และกิ่งก้านสาขาอย่างไร พืชดูดน้ำไปที่ยอดสูงๆ ได้อย่างไร พืชสร้างอาหารและปล่อยก๊าซออกซิเจนได้อย่างไร ทำไมต้นไม้บางชนิดจึงมีดอกสีสวยๆ และผลไม้รสชาติอร่อย รวมทั้งในพืชมีสารเคมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง และเมื่อก้าวพ้นจากปลายอุโมงค์แล้ว ผู้ชมจะได้ตื่นตาตื่นใจกับอัจฉริยภาพของมนุษย์ที่สามารถดึงความอัจฉริยะของต้นไม้มาสรรค์สร้างเทคโนโลยีอันล้ำสมัยมากมาย
โซนเราจะเดินทางไปด้วยกัน ผู้ชมจะสัมผัสลีลาการเคลื่อนที่เฉพาะตัวเพื่อหาอาหาร การหาคู่ผสมพันธุ์ การหลบภัยหนาว ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ผ่านเกม “จับให้ได้...ไล่ให้ทัน” ที่ผู้ชมจะต้องเก็บคะแนนจากการตามไล่ล่าสัตว์นานาชนิด เช่น ค้างคาว นก แมลงปอ ปลา เพนกวิน กิ้งกือ งู ม้า ฯลฯ ผ่านจอภาพแบบ Simulation ที่จะแสดงให้เห็นถึงลีลา และการเคลื่อนที่อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสัตว์นานาชนิด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแบบจำลองรังปลวกยักษ์ ในโซน บ้านทันสมัย หัวใจอบอุ่น เพื่อเผยความลับอันน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติที่สรรค์สร้างให้รังปลวกกลายเป็นบ้านทันสมัยแสนเย็นสบาย ด้วยการมีช่องระบายอากาศเชื่อมต่อกันจำนวนมาก สำหรับการถ่ายเทความร้อน เป็นต้น
นางฤทัย กล่าวว่า นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ตลอดทั้งปี เน้นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับมหัศจรรย์ของธรรมชาติ อาทิ ค่ายมหัศจรรย์แห่งพืช นักสร้างอาหารของโลก ค่ายสิ่งมีชีวิตเปล่งแสง ค่ายเรื่อง กล้วย...กล้วย..มหัศจรรย์พันธุ์ไม้แห่งมนุษยชาติ เป็นต้น โดยท้ายที่สุดหวังว่าทุกกิจกรรมจะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ หันกลับไปสังเกต เรียนรู้จากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อเห็นแล้ว ยังรู้จักนำธรรมชาติมาเป็นครูหรือต้นแบบ สำหรับพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม
พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีการจัดงานเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. และสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อเรื่อง “อัจฉริยะธรรมชาติ สร้างสรรค์เทคโนโลยี” เพื่อเผยให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติสู่การนำมาใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม วิทยากรโดย ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอเกล้าธนบุรี และ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความลับของพืช นวัตกรรมชั้นยอดแด่มนุษยชาติว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการยาวนานเป็นพันล้านปี และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นที่พึ่งของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย รวมทั้งมนุษย์ด้วยหากลองสังเกตพืชหลายๆ ชนิดอย่างสร้างสรรค์ ทั้งส่วนใบ ราก ลำต้น ดอก และผล จะพบว่าพืชกุมความลับไว้มากมาย ที่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายประการที่มนุษย์กำลังประสบในขณะนี้ เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด การหาพลังงานทดแทน การลดภาวะโลกร้อน เพื่อความอยู่รอดและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ
ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันในเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เริ่มมีการใช้การเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตมาพัฒนาหุ่นยนต์มากทั้งในชีวิตประจำวัน และอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์งูที่มีการเคลื่อนที่แบบตัวเอส เพื่อใช้ในงานสำรวจทางทะเล งานสำรวจอวกาศ งานกู้ภัย ตึกถล่ม เหตุการณ์เพลิงไหม้รุนแรง หุ่นยนต์แมวน้ำ หรือ พาโรพัฒนา เพื่อช่วยเป็นสื่อปฏิสัมพันธ์เด็กป่วยด้านออธิสติกส์และผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองโดยเฉพาะด้านความจำ และหุ่นยนต์ปลาใช้ในการ พัฒนาการออกแบบระบบขับเคลื่อนแบบใหม่ของยานยนต์ทางน้ำ เป็นต้น
ขณะที่ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีและเป็นผู้ชื่นชอบและสังเกตความงดงามในธรรมชาติ ได้เล่าเรื่องราวจากธรรมชาติรอบตัวที่นำไปสู่การสังเกตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนจากประสบการณ์จริงที่เคยเขียนผ่านอีเมลเล่าให้ลูกฟัง เช่น ลูกไม้ ตัวบึ้ง ต่อหัวเสือ นกตีทอง ต้นตาล แก้วเจ้าจอม พลายค้ำกับพลายคูน รั้วกินได้ โดยเชื่อว่าการสังเกตธรรมชาติเป็นการฝึกให้เด็กเป็นคนอ่อนโยน และเป็นพื้นฐานการสร้างทักษะทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญคือ แรงบันดาลใจของนักคิดค้นหลายๆ คนก็ได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ “อัจฉริยะธรรมชาติ สร้างสรรค์เทคโนโลยี” สามารถเข้าชมได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2553 เป็นต้นไป ส่วนรายละเอียดการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ติดตามได้ที่ www.nstda.or.th/ssh พร้อมกันนี้สำหรับโรงเรียนที่ต้องการพานักเรียนเข้าชมเป็นหมู่คณะแจ้งได้ที่ โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 77207, 77215
ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk
สนับสนุนข้อมูลโดย : ฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช.
ผู้เผยแพร่ข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพโดย : ไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และชัชวาลย์ โบสุวรรณ