ความเป็นมา
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ โทรมาตรตรวจวัดระดับน้ำ 8 สถานี ในปี 2549 พื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี 4 สถานี ลุ่มน้ำปัตตานี 3 สถานี และลุ่มน้ำโกลก 1 สถานี ผลพบว่าสามารถติดตามและเฝ้าระวังระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และสามารถแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมรับสถานการณ์ได้ แต่ยังไม่รวดเร็วพอ ต่อมาได้ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - สสนก. ติดตั้งระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเพิ่มเติม 2 สถานี ที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอเมืองจังหวัดยะลา จากการใช้ข้อมูลร่วมกันสามารถใช้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้เป็นที่น่าพอใจ
สสนก. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกล หรือระบบโทรมาตรขนาดเล็ก ราคาถูก เคลื่อนย้ายได้ง่าย สำหรับปรับใช้แทนหรือเสริมการทำงานของสถานีโทรมาตรขนาดใหญ่ เพื่อประยุกต์ใช้ตรวจวัดข้อมูลสภาพน้ำ-อากาศในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติ และแสดงผลในรูปแบบของภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และให้บริการข้อมูลจากระบบโทรมาตรดังกล่าว ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ www.thaiweather.net พร้อมทั้งพัฒนาระบบส่งข้อความแจ้งเหตุเตือนภัย เมื่อตรวจพบข้อมูลที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ จากระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่
หลักการและเหตุผล
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศที่ สสนก. ได้ติดตั้งถวาย ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าได้ทรงงานแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการน้ำ และภัยพิบัติของประเทศ มีพระราชดำริให้ดำเนินการติดตั้งและเตรียมพร้อมทั้งประเทศ และได้พระราชทานพระราชดำริอีกครั้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2552 ว่า ในอนาคตหวังว่าจะมีการติดตั้งมาตรวัดระดับน้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จะทำให้สามารถวางแผนการกักน้ำและพร่องน้ำได้ล่วงหน้า และง่ายขึ้น
เนื่องจากระบบโทรมาตรที่ติดตั้งในพื้นที่มีจำนวนจำกัด และไม่ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และยังเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนข้อมูลที่จำเป็นต่อการเตือนภัยสภาพอากาศ และจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้น ด้วยความต้องการดังกล่าวจึงได้จัดทำข้อเสนอ “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา” เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศเพิ่มเติมจำนวน 31 สถานี คลอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
สสนก. จะดำเนินการในส่วนของการจัดหาและพัฒนาอุปกรณ์ระบบโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศจำนวน 31 สถานี ซึ่งในจำนวนนี้มีอุปกรณ์วัดลมเพิ่มเติม 10 ชุด สำหรับงานในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กรมชลประทาน จะดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบสภาพสถานีโทรมาตรในพื้นที่ เพื่อให้อุปกรณ์มีประสิทธิภาพดี และใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศจำนวน 31 สถานี
ให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
ผลลัพธ์ที่จะได้
ข้อมูลจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศจำนวน 31 สถานี
ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ให้ได้ใช้งานต่อไป ดังนี้
1) ข้อมูลสำหรับเตือนภัยจากฝนตกหนักในพื้นที่ เพื่อเตรียมการป้องกันและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2) ข้อมูลสำหรับสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนการวางแผนเพาะปลูก
3) ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่รวบรวมไว้จะเป็นประโยชน์ต่องานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
- หน่วยงานร่วมดำเนินการ
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาจังหวัดปัตตานี กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขอบเขตการทำงาน
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
- จัดหาและพัฒนาอุปกรณ์ระบบโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศจำนวน 31 สถานี รวมทั้งอุปกรณ์วัดลมเพิ่มเติม 10 ชุด
- จัดส่งอุปกรณ์ระบบโทรมาตร
- ค่าบริการ GPRS รายสถานี เป็นระยะเวลา 2 ปี
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาจังหวัดปัตตานี กรมชลประทาน
- จัดหาสถานที่และทำการติดตั้งระบบโทรมาตรตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศจำนวน 31 สถานี รวมทั้งอุปกรณ์วัดลมเพิ่มเติม 10 ชุด
- ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรในพื้นที่ เฉลี่ย 6 เดือนต่อปีต่อสถานี เป็นระยะเวลา 2 ปี
ที่ตั้งสถานีโทรมาตร 3 จังหวัดชายแดนใต้
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1) จัดหา พัฒนา และทดสอบอุปกรณ์โทรมาตร
2) จัดส่งอุปกรณ์โทรมาตร
3) ติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรในพื้นที่
4) จัดทำรายงานการติดตั้ง และสรุปผลการทำงาน
แผนการดำเนินงาน
งบประมาณ
งบประมาณดำเนินโครงการ จำนวน 4.5 ล้านบาท
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
การติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา |
หน่วยงานรับผิดชอบ : | สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) |
เลขที่ 108 อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนรางน้ำ | |
แขวงถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพ 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2642-7132 | |
โทรสาร 0-2642-7133 | |
เว็บไซต์ : โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา |