ความเป็นมาและหลักการ
แนวพระราชดำริในการใช้แก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองมหาชัย นอกเหนือจากการแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นแนวพระราชดำริที่มีมากว่า 10 ปีแล้ว คลองมหาชัยเป็นคลองเชื่อมคลองบางกอกน้อยกับจังหวัดสมุทรสาคร และมีคลองซอยเชื่อมออกทะเลอยู่มาก แต่น้ำที่ไหลมาจากคลองบางกอกน้อยมาปะทะกับน้ำเค็มที่หนุนขึ้นมาทางจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้น้ำนิ่งไม่ไหล น้ำบริเวณนี้จึงเน่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงร่างสิ่งที่เรียกว่า Thematic Map เพื่อใช้อธิบายความคิดรวบยอด (Concept) หรือหลักการ และได้กำหนดจุดที่จะทำประตูน้ำและพื้นที่แก้มลิงโดยประมาณขึ้นมา และให้นำน้ำเค็มผันมาเก็บไว้ในแก้มลิงเมื่อน้ำทะเลหนุน หนุนขึ้นสูงต่างกันโดยประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้นเมื่อน้ำทะเลลงก็จะทำหน้าที่เหมือนลูกสูบรถยนต์สูบเอาน้ำที่ไหลจากคลองบางกอกน้อยไปด้วย ทำอย่างนี้น้ำก็จะไหลเวียน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้สำรวจทำแผนที่ เพื่อกำหนดพื้นที่แก้มลิงตามหลักข้างต้น โดยให้เลือกบริเวณน้ำขัง ที่ปัจจุบันน้ำเน่าเสียแล้ว ทำการเกษตรไม่ได้ มาใช้ทำแก้มลิง ทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสียแบบเดียวกับที่แหลมผักเบี้ย เมื่อทำเสร็จน้ำดีขึ้น ใช้ทำการเกษตรได้ ราษฎรก็จะได้มีรายได้ มีผลตอบแทน มีอาชีพกลับมา แต่ต้องบริหารระดับน้ำให้ดี อย่างระมัดระวัง มีการบันทึกข้อมูลโดยตลอด หากทำสำเร็จก็ให้พิจารณาเชื่อมต่อทางทิศตะวันตกไปถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ทางทิศตะวันออกก็ขยายต่อมาที่บางขุนเทียน บางกระเจ้า สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นชุดเป็นกลุ่ม เหมือนกับโครงการในพระราชดำริที่จังหวัดนราธิวาส และได้ทรงย้ำว่าในการทำโครงการนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ การรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนที่ จัดทำ Thematic Map นำข้อมูลมาประกอบเข้ากับ Thematic Map แล้วสรุปความคิดรวบยอด (Concept) ให้ได้ ก็จะได้โครงงานที่จะใช้ดำเนินงานพัฒนา
วัตถุประสงค์
1) จัดทำระบบบริหารจัดการแก้มลิงสำหรับเสริมระบบการไหลเวียนของน้ำ
2) ศึกษาระบบการไหลเวียนของน้ำ จัดทำแบบจำลอง และหุ่นจำลองเพื่อแสดงการไหลกรณีปกติ และกรณีมีการบริหารประตูน้ำ และพื้นที่แก้มลิง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) ระบบแก้มลิงสำหรับเสริมระบบการไหลเวียนของน้ำ
- Thematic Map แสดงตำแหน่งประตูน้ำ สภาพการไหลของน้ำ และข้อมูลประกอบ
- แบบจำลอง และหุ่นจำลอง แสดงสภาพการไหลของน้ำที่จำลองเหตุกรณีต่างๆ
- ต้นแบบระบบควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำจากระยะไกล
2) ระบบบริหารน้ำ
- แนวทางบริหารน้ำเพื่อเสริมการไหลเวียน
- ตารางการบริหารน้ำสำหรับโครงสร้างหลัก และโครงสร้างรอง
3) ร่วมบริหารน้ำ
- รัฐ เอกชน ชุมชน ร่วมมือในการบริหารน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- การดูแล บำรุงรักษาสภาพแนวคลอง และอนุรักษ์ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ
- ขยายผล พื้นที่ และชุมชนที่ร่วมดำเนินการ
กรอบแนวคิด
สภาพพื้นที่
พื้นที่คลองมหาชัย-สนามชัย บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จรดแม่น้ำท่าจีน มีคลองสายสำคัญหลัก คือ คลองมหาชัย (สนามชัย) คลองสรรพสามิต คลองขุนราชพินิจใจ และคลองหลวง(พระราม) มี ปตร. ในโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 10 แห่ง ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
จากการสำรวจสภาพคลองสนามชัยช่วงต่อจากคลองบางกอกน้อย ถึงคลองขุนราชพินิจใจ พบสภาพน้ำเน่า ดำ มีกลิ่นเหม็น และมีขยะเป็นปริมาณมาก ในช่วงน้ำขึ้นบริเวณแยกคลองสนามชัย และคลองขุนราชพิจนิจใจ มีสภาพน้ำนิ่งไม่ใหล เอ่อล้นในบริเวณ
พื้นที่ดำเนินการ
การดำเนินงานในครั้งนี้ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ใหญ่ และพื้นที่เล็ก ตามผังด้านล่าง เพื่อให้สะดวกในการดำเนินงานและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ดังภาพที่ 2 กล่าวคือ
4.2.1 พื้นที่ส่วนที่ 1.1 และ 1.2 (ยกเว้นคลองตรง) เป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการแก้มลิงในระยะแรก ดังภาพที่ 3
4.2.2 พื้นที่ส่วนที่ 1.3 และ 1.4 เป็นพื้นที่ที่จะขยายผลการดำเนินงานโครงการแก้มลิงในระยะต่อไป
4.2.3 พื้นที่ส่วนที่ 2, 3 และ 4 เป็นพื้นที่ติดต่อที่จะส่งผลกระทบถึงพื้นที่ดำเนินงาน ใช้ติดตามข้อมูลน้ำ และสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ ต่อไปในอนาคตใด้
ภาพที่ 2 พื้นที่ดำเนินงานพื้นที่ใหญ่ และการแบ่งส่วนพื้นที่ศึกษา
ภาพที่ 3 พื้นที่ดำเนินงานการจัดทำแบบจำลอง และการควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำในระยะแรก
ขอบเขตการดำเนินงาน
1 กิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว
1.1 โปรแกรมที่ 1
- Thematic Map พื้นที่ดำเนินการ
- รวบรวมรายงาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย (กรมชลประทาน, 2541)
- สำรวจสภาพคลอง และสภาพพื้นที่เบื้องต้น
- สำรวจสภาพประตูน้ำในพื้นที่โครงการทั้ง 10 แห่ง
1.2 โปรแกรมที่ 2
- ติดต่อประสานงานกับเอกชน และกำหนดพื้นที่สนใจจะเข้าร่วมดำเนินงานโครงการฯ
- ทำแผนกิจกรรม ที่จะดำเนินงานในพื้นที่เอกชน
2 โปรแกรมที่จะดำเนินการในระยะแรก
2.1 โปรแกรมที่ 1
• การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติม
- การสำรวจรูปตัดลำน้ำ เพื่อใช้คำนวณความจุลำน้ำในคลองสายต่างๆ
- ทิศทางการไหลของน้ำบริเวณปากแม่น้ำ และในคลองในช่วงเวลาต่างๆ
- ตารางการกัก-ปล่อยน้ำเข้าบ่อกุ้ง-บ่อปลา
- ข้อมูลคุณภาพน้ำ เพื่อแสดงสภาพน้ำในจุดต่างๆ
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนที่ยังไม่มีในรายงานข้างต้น หรือเป็นข้อมูลที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม
• ระบบโทรมาตร ติดตั้งในพื้นที่ 10 ชุด ใช้เก็บข้อมูลระดับน้ำต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ประกอบด้วย
- โทรมาตร 4 ชุด สำหรับรายงานข้อมูลระดับน้ำผ่านระบบเครือข่าย GPRS อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และความสัมพันธ์กับการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล
- โทรมาตร 6 ชุด สำหรับควบคุม และรายงานผลการเปิด-ปิดบานประตูระบายน้ำทั้ง 6 แห่ง ผ่านระบบเครือข่าย GPRS
โดยข้อมูลที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และสำหรับงานด้านแบบจำลองของโครงการฯ
• ระบบแบบจำลอง
จำลองสภาพ และทิศทางการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่ส่วนที่ 1.1 และ 1.2 ด้วยเงื่อนไขต่างๆ สำหรับกรณี น้ำฝน น้ำหลาก การปล่อยน้ำของพื้นที่แก้มลิงเอกชน ที่จะส่งผลต่อการไหลเวียนของน้ำโดยรวม
• จัดทำหุ่นจำลอง
หุ่นจำลองในพื้นที่ดำเนินการโครงการระยะแรก (กรอบเส้นประสีชมพู-ภาพที่ 3) แสดง สภาพภูมิประเทศ ทางน้ำ โครงสร้างทางชลประทาน และพื้นที่แก้มลิง ในพื้นที่โครงการฯ ที่แสดงทิศทางการไหลเวียนของน้ำตามอิทธิพลการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล รวมถึงภายใต้เงื่อนไขการบริหารการเปิด-ปิดบานประตูระบายน้ำ และพื้นที่แก้มลิง เพื่อเป็นการยืนยันผลแบบจำลองคอมพิวเตอร์อีกครั้ง
• ต้นแบบตารางบริหารน้ำโครงสร้างหลัก โครงสร้างรอง
ผลการคำนวณจากแบบจำลอง ด้วยเงื่อนไขการบริหารในต่างๆ จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเกณฑ์ และตารางในการบริหารน้ำสำหรับโครงสร้างหลัก และโครงสร้างรอง และติดตามผลโดยใช้ข้อมูลระบบโทรมาตร และปรับเทียบผลกับแบบจำลองโดยตลอด เพื่อให้เกิดการบริหารน้ำที่เสริมการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่โครงการฯ
• ต้นแบบระบบควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำจากระยะไกล
วิเคราะห์ระบบควบคุมการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำในปัจจุบัน และจัดทำต้นแบบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบควบคุมการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำที่ควบคุมได้จากระยะไกล หรือแบบกึ่งอัตโนมัติ
2.2 โปรแกรมที่ 2
• พื้นที่บริเวณเบสท์โอเชี่ยน กอล์ฟ
- จัดทำแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ (พันธุ์ไม้ประจำถิ่น)
- ฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวคลองหลวงพระราม ฝั่งติดพื้นที่สนามกอล์ฟระยะทางรวมประมาณ 1 กิโลเมตร
- ร่วมบริหารน้ำเข้า-ออก บ่อ หรือสระ 4 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 174 ไร่ ให้บริหารได้ที่ระดับ ±1 เมตร
- ติดตั้งโทรมาตรวัดระดับน้ำ 2 ชุด
• พื้นที่บริเวณหมู่บ้านสาริน
- จัดทำแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ (พันธุ์ไม้ประจำถิ่น)
- ฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวคลองสหกรณ์สาย 3 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
- หลังจากป่าตามแนวคลองโตเต็มที่ ฟื้นสภาพคลองและขุดลอกตามแนวให้คงความกว้างคลองไว้ประมาณ 20 เมตร
• พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร
- จัดทำแปลงเพาะพันธุ์กล้าไม้ (พันธุ์ไม้ประจำถิ่น)
- ฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวคลองโคกขาม
- หลังจากป่าตามแนวคลองโตเต็มที่ ฟื้นสภาพคลองและขุดลอกตามแนวที่กำหนด
- ขุดบ่อ หรือสระทำแก้มลิง
- ร่วมบริหารน้ำเข้า-ออก บ่อ หรือสระ
• พื้นที่สระน้ำ ด.ต.สุชาติ กลิ่นจันทร์
- ร่วมบริหารน้ำเข้า-ออก สระพื้นที่ประมาณ 89 ไร่ ให้บริหารได้ที่ระดับ ±1 เมตร
• ออกแบบก่อสร้าง หรือปรับปรุงประตูระบายน้ำขนาดเล็ก 5 แห่ง
- ประตูระบายน้ำติดตั้งในพื้นที่สระน้ำ ด.ต. 1 แห่ง สระน้ำสนามกอล์ฟเบสท์โอเชี่ยน 2 แห่ง สระน้ำนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 5 แห่ง
ผู้รับผิดชอบโครงการ
คณะกรรมการ
ประกอบด้วยคณะกรรมการโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย เป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย และคณะกรรมการบริหารน้ำ เป็นคณะกรรมการในพื้นที่โครงการฯ มีหน้าที่ดังนี้
ภาพที่ 6 บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ
หน่วยงานหลัก
- กรมชลประทาน และสำนักชลประทานที่ 11 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงาน ประกอบด้วย
- รวบรวมเอกสาร และรายงานผลการสำรวจพื้นที่
- ร่วมสำรวจสภาพคลอง และแหล่งเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีอยู่เดิม
- ร่วมบริหารน้ำในพื้นที่โครงการ
- ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ บริษัท แอสดีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวบรวมการพยากรณ์ระดับน้ำทะเลในพื้นที่โครงการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสูตรคำนวณ
- ร่วมจัดทำแบบจำลองการไหลของน้ำ
- จัดทำหุ่นจำลองการไหลของน้ำ
- เชื่อมต่อความรู้แบบจำลองการไหลของน้ำเข้ากับคุณภาพน้ำ
- รายงานการศึกษาสภาพการไหลของน้ำโดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ และหุ่นจำลอง
- สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ออกแบบ จัดทำ และติดตั้งระบบควบคุมการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำจากระยะไกล
- รายงานการวิเคราะห์ออกแบบระบบควบคุมการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำ
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงาน ประกอบด้วย
- รวบรวมข้อมูลในพื้นที่โครงการฯ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาอุปกรณ์โทรมาตรสำหรับตรวจวัดระดับน้ำ และชุดเครื่องมือสื่อสารสำหรับการควบคุมประตูน้ำจากระยะไกล (ร่วมกับ มจธ.)
- จัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูล และการแสดงผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- งานออกแบบ ก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็ก 5 แห่ง
- รายงานข้อสรุป และผลการดำเนินการโครงการฉบับสมบูรณ์
หน่วยงานร่วมดำเนินการ
1) จังหวัดสมุทรสาคร
2) สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร
3) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร
4) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาคร
ภาพที่ 7 โครงสร้างคณะกรรมการ โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ คลองสนามชัย-มหาชัย
ภาพที่ 8 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย
การดำเนินการและแผนงาน
ระยะเวลาในการดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 240 วัน
งบประมาณโครงการ
ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 7,154,900 บาท
สื่อวิดิทัศน์
โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ รายการทีวีไทยสุดสัปดาห์ออกอากาศเมื่อ 23 พฤษภาคม 2552
![]() ![]() |
||
![]() |
||
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
หน่วยงานรับผิดชอบ : | สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) |
เลขที่ 108 อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนรางน้ำ | |
แขวงถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพ 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2642-7132 | |
โทรสาร 0-2642-7133 | |
เว็บไซต์ : โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์คลองสนามชัย – มหาชัย กรุงเทพมหานคร – สมุทรสาคร | |