ความเป็นมา
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เป็นประเทศแห่งการเกษตรกรรม แต่ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี สร้างความเสียหายต่อผลผลิตเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องด้วยประเทศไทยมีชุมชนมากกว่าหกหมื่นชุมชน ชุมชนจึงเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสนก.) ได้มีแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน และขยายผลสู่เครือข่ายการจัดการ ทั้งนี้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้เกิดระบบฐานข้อมูลน้ำชุมชน เช่น ข้อมูลแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่ ระบบแผนที่ในการสำรวจแหล่งน้ำ ระบบบัญชีชุมชน บัญชีน้ำ บัญชีการผลิต บัญชีครัวเรือน ปฏิทินการเพาะปลูก ระบบบริหารความเสี่ยง การวางแผนเรื่องน้ำในพื้นที่ และสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ ได้ด้วยตนเอง
โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำ/a> from msciences on Vimeo.
จากภารกิจที่ สสนก. ได้จัดประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ มาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2552 พบตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชนจำนวนมาก ชุมชนมีประสบการณ์และความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นแบบอย่างความสำเร็จได้อย่างดี หลายชุมชนมีศักยภาพที่ใช้เป็นตัวอย่างขยายผลสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชนให้เพิ่มขึ้นได้ จึงควรที่จะสนับสนุนให้ชุมชนมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแม่ข่ายขยายผลแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่ชุมชนอื่นๆ ให้เกิดเครือข่ายพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในที่สุด
หลักการและเหตุผล
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่ สสนก. ได้จัดขึ้น ทรงชื่นชมเพราะชุมชนใช้วิธีง่ายๆ ลงมือปฏิบัติจนเข้าใจในแนวพระราชดำริต่างๆ ทรงอยากให้มีการขยายผลเป็นเครือข่ายการทำงานของชุมชนที่บริหารจัดการน้ำเป็น
สสนก. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15.62 ล้านบาท
และเพื่อเป็นการพัฒนาแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ที่จะขยายผลให้เกิดเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชนที่มีประสิทธิภาพ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สสนก. จึงได้จัดทำแผนโครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อเนื่องจากปี 2552
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รายได้ และผลผลิตของชุมชน
แนวทางการดำเนินงาน
พัฒนาแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน
การเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน นับเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชน เพราะทรัพยากรน้ำถือเป็นปัจจัยหลักในการประกอบอาชีพการเกษตร อันเป็นรายได้สำคัญของระบบเศรษฐกิจระดับฐานราก การพัฒนาให้มีชุมชนแม่ข่ายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนเกิดศักยภาพในการจัดการทรัพยากรน้ำของตนได้อย่างมั่นคง
แบบอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนต้นแบบ เริ่มจากการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ดังนี้
1) การจัดการความรู้ ให้ชุมชนสามารถรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายในชุมชน มาจัดเก็บ ผลิต ดูแล และจัดการเนื้อหาสาระ ได้ด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ โดยใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศประยุกต์ ทางด้านระบบจัดการฐานข้อมูลและเว็บไซต์ชุมชน (Local Content Management System)
2) การจัดการทางสังคม ให้ชุมชนสามารถใช้ข้อมูล รวมทั้งประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี ในการจัดการชุมชนของตน โดย
- ทำการสำรวจเส้นทางน้ำ ทำแผนที่แนวเขตป่าอนุรักษ์ ทำข้อมูลตำแหน่งฝายชะลอความชุ่มชื้น และจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ด้วยการใช้งานแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง (THEOS) เครื่องจับพิกัดจุด GPS และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Internet GIS-MIS)
- เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อม เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยอุปกรณ์โทรมาตรขนาดเล็ก (Field Server)
- แก้ไขปัญหารายได้-รายจ่าย-หนี้สินครัวเรือน และอาชีพ ด้วยระบบบัญชีครัวเรือน บัญชีชุมชน และฐานข้อมูลครัวเรือน (Village Data Book) ชุมชนเปลี่ยนวิธีการผลิตและเพาะปลูกให้มีเสถียรภาพ โดยวางแผนด้วยโปรแกรม Excel
3) การพึ่งพาตนเอง จากการจัดการความรู้และการจัดการทางสังคม ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีกระบวนการคิด แก้ปัญหา และลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง
การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถสนับสนุนการพัฒนาชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ให้เป็นแม่ข่ายทางความคิดและการปฏิบัติ ที่สามารถจัดการข้อมูล วางแผน บริหารจัดการ และเป็นชุมชนแม่ข่ายเชิงคุณภาพ เพื่อขยายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่เครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจระดับชุมชนมีความยั่งยืนได้ต่อไป
ผลลัพธ์ที่จะได้
แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่
1) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- พัฒนาระบบและประยุกต์ใช้
- ชุมชนเรียนรู้และใช้งาน
- ระบบจัดการข้อมูลชุมชน
2) การจัดการน้ำระดับชุมชน
- บัญชีน้ำชุมชน
- แผนการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน
- ระบบสนับสนุนการวางแผนและตัดสินใจ
- พัฒนาแม่ข่ายการจัดการน้ำชุมชน
3) เศรษฐกิจชุมชน (เกษตรระดับชุมชน)
- ระบบบัญชีชุมชน
- แผนการผลิตเกษตรทฤษฎีใหม่
- แผนการขายและการตลาด
4) การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม
- พัฒนาคุณภาพแม่ข่าย
- พัฒนาแกนนำและเยาวชน ด้วย ว และ ท
- กระบวนการมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง
- เชื่อมโยงแม่ข่ายกับศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี
แผนการดำเนินงาน
พื้นที่ดำเนินงาน
พื้นที่ดำเนินงานในปี 2553 ทั้งหมด 15 ชุมชน ดังนี้
พื้นที่ | ชุมชน | จำนวนประชากร(คน) |
พื้นที่ต้นน้ำ | 1. ชุมชนบ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ | 347 |
2. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ | 931 | |
3. ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก | 855 | |
4. ชุมชนเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา | 1,000 | |
5. กลุ่มบริหารการใช้น้ำบางทรายนวล อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี | 1,015 | |
6. เครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย | 128 | |
พื้นที่น้ำแล้ง | 7. ชุมชนบ้านโนนรัง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีม | 365 |
พื้นที่น้ำแล้งน้ำท่วม | 8. ชุมชนบ้านโนนขวาง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ | 627 |
9. ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ | 556 | |
10. ชุมชนบ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี | 563 | |
11. ชุมชนบ้านหนองปิ้งไก่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร | 885 | |
12. ชุมชนบ้านตูม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร | 1,147 | |
13. ชุมชนบ้านโป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก | - | |
พื้นที่น้ำกร่อย | 14. ชุมชนบ้านเปร็ดใน อ.เมือง จ.ตราด | 591 |
15. ชุมชนบ้านลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี | 3,980 |
งบประมาณโครงการ
งบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 16.24 ล้านบาท (โครงการพัฒนาระบบจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชน (ปี 2554 ใช้ชื่อ โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วย ว. และ ท.) (สสนก.))
สื่อวิดิทัศน์
- การบริหารจัดการน้ำชุมชน บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ จากรายการ ทันข่าวเที่ยง ไทยทีวีสีช่อง 3 วันที่ 9 มีนาคม 2553
- สารคดีวิถีชนบท ตอน การจัดการน้ำระดับชุมชน ตอน การจัดการน้ำระดับชุมชน ช่อง 11 วันที่ 7 กันยายน 2550
ภาพถ่ายสถานที่จริง แผนที่โครงการ
|
|
ภาพถ่ายสถานที่จริง
![]() เขาพระ |
![]() ทับคริสต์ |
![]() โนนขวาง |
![]() โนนรัง |
![]() บ้านตูม |
![]() ป่าสักงาม |
![]() เปร็ดใน |
![]() โป่งแดง |
![]() ผาชัน |
![]() แม่ละอุป |
![]() แม่ลาว |
![]() ลิ่มทอง |
![]() ลีเล็ด |
![]() หนองปิ้งไก่ |
![]() ห้วยปลาหลด |
หน่วยงานรับผิดชอบ : | สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) |
เลขที่ 108 อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 8 ถนนรางน้ำ | |
แขวงถนนพญาไท ราชเทวี กรุงเทพ 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2642-7132 | |
โทรสาร 0-2642-7133 | |
เว็บไซต์ http://village.haii.or.th/vtl/ |