ความเป็นมา/หลักการและเหตุผล
กิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 โดยมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobelprizewinners Meeting at Lake Constance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ มีการเชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) นักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่จัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ และในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นปีไอน์สไตน์ได้จัดการประชุมขึ้นทั้ง 3 สาขาพร้อมกัน สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์จะจัดขึ้นทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ อีกทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย และ/หรือนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในอดีตจำนวนมาก ที่จะมานำเสนอผลงานในการประชุมดังกล่าว
โดย สวทช. ได้ดำเนินการประกาศแจ้งการรับสมัครและคัดเลือกนิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสาขาฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมดังกล่าว ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมร่วมกับผู้แทนสมาชิกคณะผู้ก่อตั้งการประชุม จะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกในขั้นสุดท้าย
ทั้งนี้ สวทช. ได้ประสานงานในการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการระหว่าง สวทช. กับ The Council for the Lindau Nobel Laureate Meetings และ The Foundation Lindau Nobelprizewinners Meetings at Lake Constance ในวันที่ 30 สิงหาคม 2550 และได้ตกลงลงนามในบันทึกความร่วมมือในช่วงเวลาของการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ครั้งที่ 58 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2551
วัตถุประสงค์
เพื่อให้นิสิต นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล
กิจกรรมและแผนการดำเนินงาน
- แผนงานประชาสัมพันธ์และคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย
- แผนงานเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและอื่นๆ
- แผนงานการเข้าร่วมกิจกรรม
- แผนงานการประเมินผลกิจกรรม
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2553 ได้สนับสนุนเยาวชนเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ จำนวน 14 คน (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้ทรงคัดเลือก) แบ่งเป็นปี 2551 จำนวน 3 คน ปี 2552 จำนวน 6 คน และปี 2553 จำนวน 5 คน
(รายละเอียดตามเอกสารแนบ ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา)
งบประมาณ
งบประมาณปี 2551 เป็นเงิน 395,000 บาท
งบประมาณปี 2552 เป็นเงิน 588,000 บาท
งบประมาณปี 2553 เป็นเงิน 588,000 บาท
งบประมาณปี 2554 เป็นเงิน 400,000 บาท
พื้นที่ดำเนินงาน
เมืองลินเดา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ระยะเวลาดำเนินงาน
ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2551 และดำเนินการต่อเนื่องทุกปี
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
นิสิต นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ ที่จะช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผู้รับผิดชอบโครงการ
1. นาง ฤทัย จงสฤษดิ์
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานกลาง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทร. 025297100 ต่อ 77223
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
2. นางลัดดา หงส์ลดารมภ์
ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานกลาง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทร. 02-644-8150 ต่อ 702
โทรสาร 02-333-3934
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
เอกสารแนบ
ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา
หน่วยงานรับผิดชอบ : | สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) |
73/1 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี | |
กรุงเทพฯ 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2644-8150-54 | |
โทรสาร 0-2644-8027-29 | |
เว็บไซต์ http://www.nstda.or.th |