กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish

โครงการผลิตกล้วยไม้สกุลวานิลลาเชิงพาณิชย์

พิมพ์ PDF

ความเป็นมา

         วานิลลาเป็นพืชวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) ฝักเมื่อนำไปบ่มมีกลิ่นหอมของวานิลลิน มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบตะวันออกของทวีปอเมริกากลาง มีรายงานว่ามีมากถึงกว่า 200 สายพันธุ์ การกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือ-ใต้ของเส้นศูนย์สูตร สายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางการค้ามีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์คือ
1.    Vanilla planifolia (Andrews.)
2.    วานิลลอน Vanilla pompona
3.    วานิลลาตาฮิติ Vanilla tahaitensis
 


 
         ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุดคือ Vanilla planifolia (Andrews.) เรียกกันว่าวานิลลาพันธุ์การค้า ประเทศไทยมีวานิลลาพื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 4 สายพันธุ์คือ 1. พลูช้าง หรือตองผา Vanilla siamensis Rolfe ex Kownie 2. เอาะลบ Vanilla albida Blume 3. สามร้อยต่อใหญ่ หรือ งด Vanilla pilifera Holttum และ 4.เถางูเขียว Vanilla aphylla Blume. ประเทศไทยรู้จักนำวานิลลาพันธุ์การค้าเข้ามาปลูกกว่า 30 ปีแล้ว โดยได้ปลูกทดลองในสถานีทดลองต่างๆของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร์และสหกรณ์
มูลนิธิโครงการหลวงได้ศึกษาทดลองการปลูกวานิลลาพันธุ์การค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ได้ศึกษาทดลองครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบมีการเจริญเติบโตของวานิลลาพื้นเมือง (พลูช้าง) Vanilla simensis Blumes. ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติ ซึ่งได้นำวานิลลาพันธุ์การค้า (Vanilla planifolia Andrews.) มาทดลองปลูกเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ป่าธรรมชาติ และซาแรนพรางแสง 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและสามารถให้ดอกในปีที่ 3 ของการปลูกด้วยต้นกล้าจากการปักชำต้น และจะออกดอกประมาณปลายเดือนมีนาคม ถึงเมษายน จะเร็วกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 1 เดือน เนื่องจากวานิลลาเป็นพืชเลื้อยสามารถมีอายุข้ามปีได้หลายปี จึงมีการศึกษาถึงวัสดุที่ใช้ทำค้างเกาะ ทั้งค้างมีชีวิตคือต้นไม้ที่ใบสามารถพรางแสงได้ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ (ต้น Facultalia ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว) พบว่าการใช้ค้างซีเมนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทีสุดในการปลูกวานิลลาเชิงการค้า การเปรียบเทียบการใช้วัสดุคลุมดินด้วยกาบมะพร้าวสับ พืชตระกูลถั่ว และหญ้า ไม่พบความแตกต่างในการเจริญเติบโตของวานิลลา  

หลักการ และเหตุผล  

         สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ได้ทำการศึกษาวิจัยการผลิตวานิลลาที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง โดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต และการบ่มฝักจนประสบผลสำเร็จ และปัจจุบันได้ขยายงานการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไปยังศูนย์ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (นับเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนี้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาการผลิตวานิลลา) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง บ้านโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่านเป็นต้น และได้รับการสนับสนุนงบประมาณขยายผลงานวิจัยสู่เกษตรกรจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

วัตถุประสงค์

          เพื่อศึกษา วิจัย พัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดความรู้การผลิตวานิลลา เพื่อขยายผลสู่งานส่งเสริมให้แก่มูลนิธิโครงการหลวง ในการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรบนพื้นที่สูงและผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือ  เพื่อทดแทนการนำเข้าวานิลลาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ  โดยหาพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงทดแทนการทำการเกษตรที่ใช้พื้นที่มาก และ เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ
สถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง หมู่บ้านขุนวาง ตำบลแม่วิน  อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่  
พิกัดที่ตั้ง       X = 98 ํ31'8" E         Y = 18 ํ37'19"N

 

แนวทางการดำเนินงาน
        
         การดำเนินการประกอบด้วย 2 แผนงาน
         1    แผนงานพัฒนา ทดสอบ และส่งเสริมการผลิตวานิลลาของมูลนิธิโครงการหลวง
         2    แผนงานพัฒนา ทดสอบ และนำร่องการผลิตวานิลลาเชิงการค้า   
เวลาดำเนินโครงการ เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2545 พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


       

 

 

งบประมาณโครงการ

     ปี 2551  = 1,000,000 บาท  (ใช้ร่วมกับโครงการเห็ดเขตหนาว)  
     ปี 2552  = 1,000,000 บาท  (ใช้ร่วมกับโครงการเห็ดเขตหนาว)  
     ปี 2553  = 900,000 บาท     (ใช้ร่วมกับโครงการเห็ดเขตหนาว)     
     ปี 2554  = 1,500,000 บาท    (ใช้ร่วมกับโครงการเห็ดเขตหนาว) 

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.    เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตวานิลลาธรรมชาติที่มีคุณภาพ
2.    เกิดการพัฒนาการประกอบอาชีพเกษตรเชิงอนุรักษ์ ลดพื้นที่การบุกรุกทำลายป่าธรรมชาติ
3.    ทดแทนการนำเข้าวานิลลาจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

ผู้รับผิดชอบโครงการ 
        
          ดร. ชนะ พรหมทอง- ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)


ภาพผลงานโครงการ 

          การศึกษาการบ่มฝักวานิลลาพบว่าการประยุกต์วิธีการบ่มฝักของประเทศมาดากาสก้าร์โดยผ่านกระบวนการบ่มหลักๆ 4 ขั้นตอน คือ 1.Killing  2. Sweating  3. Slow drying และ 4. Conditioning สามารถทำให้ฝักวานิลลามีกลิ่นหอม สีของฝักเป็นสีช็อคโกเล็ตเข้ม ฝักมีความนุ่ม ความชื้นประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารวานิลลิน พบว่ามีประมาณ 2.21เปอร์เซ็นต์ ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ผิวฝักพบผลึกสีขาวใสของวานิลลิน หรือเรียกกันว่า frost เกาะอยู่ ซึ่งบางประเทศใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพฝักวานิลลาที่ดี

 


          ในปี 2549ได้มีการศึกษาทดลองปลูกในโรงเรือนพลาสติกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ระดับความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พบวาสามารถให้ผลผลิตสูง และให้ผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ฝักที่บ่มมีปริมาณสารวานิลลิน สูงถึงประมาณ 2.40 เปอร์เซ็นต์ แต่การสุกแก่ของฝักจะประมาณ 12 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ศูนย์ป่าเมี่ยงประมาณ 2 เดือน ทำให้คาบเกี่ยวกับการออกดอกรุ่นใหม่ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถตัดแต่งทรงต้นหลังเก็บเกี่ยวได้
          ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้ขยายผลการวิจัยสู่การผลิตเชิงการค้าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง 8 ราย ปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก จากาการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเกษตรกร 4 รายปลูกในระบบโรงเรือนพรางแสงที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
          ปัจจุบันผลผลิตจากการศึกษาทดลองวานิลลาได้ส่งจำหน่ายในรูปฝักวานิลลาบ่มผ่านฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง และทดลองผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเมนูอาหาร เช่น น้ำเชื่อมวานิลลา น้ำเลมอนผสมวานิลลา และฟักทองวานิลลา ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ซึ่งผลผลิตฝักวานิลลาบ่มยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด คาดว่าจากการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลิตมากขึ้น ในระยะเวลาอีก 3 – 4 ปี ข้างหน้า จะมีผลผลิตฝักวานิลลาบ่มของมูลนิธิโครงการหลวงประมาณปีละไม่น้อย กว่า 1,000 กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นวานิลลาที่ผ่านกระบวนการบ่มที่ได้มาตรฐานที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ขุนวาง ต่อไป


 


          การศึกษาวิจัยเพื่อลดระยะเวลาการบ่มฝัก หรือการพัฒนาสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเน่าจากเชื้อรา และพัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถให้ดอกผสมตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยผสมดอกนับว่ามีความจำเป็นในการปลูกวานิลลาเชิงการค้าของประเทศไทยและของโลก


 

          การพัฒนาโครงการพบว่าบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการผลิตวานิลลามีน้อยทำให้การขยายงานเป็นไปได้ช้า ด้วยการผลิตวานิลลาเป็นงานปราณีตและต้องดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และใช้เวลานานกว่าจะได้จำหน่ายผลผลิต เกษตรกรไม่คุ้นเคยประกอบอาชีพแบบเดิม และผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับวานิลลาและการนำไปใช้ประโยชน์ยังน้อย
 

 

หน่วยงานรับผิดชอบ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 
  35 หมู่ 3 เทคโนธานี ถ.เลียบคลองห้า
  ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
  โทรศัพท์ 0-2577-9000
  โทรสาร 0-2577-9009
  196 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  โทรศัพท์ 0-2579-1121..30, 0-2579-5515, 0-2579-0160, 0-2579-8533
  โทรสาร 0-2561-4771, 0-2579-8533
  Call Center Tel. 0 2579 3000
  เว็บไซต์ www.tistr.or.th
  เว็บไซต์ โครงการผลิตกล้วยไม้สกุลวานิลลาเชิงพาณิชย์

 

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» โครงการจัดทำแผนที่ออนไลน์ระบบนิเวศและเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่า ชายเลนและชายฝั่ง บริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
» โครงการพัฒนาระบบการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศพระราชกรณียกิจผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
» โครงการการคัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น
» โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี่
» โครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา
» โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
» โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป