ความเป็นมา
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ได้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2535 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆ และบุคคลที่สนใจ ได้มีโอกาสปฏิบัติงานศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย ได้ศึกษาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ รวบรวมเป็นหลักฐานไว้ และเพื่อเป็นสื่อระหว่างสถาบันต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่ทำการศึกษาให้สามารถร่วมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การศึกษาไม่ซ้ำซ้อน สามารถดำเนินการได้ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ในทางวิชาการได้
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ โดยทำหน้าที่ด้านการวิเคราะห์ทดสอบสารอาหารและองค์ประกอบสำคัญในพืชและพันธุ์ไม้ไทยต่างๆ ของท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น มะเกี๋ยง มะตูม เพื่อใช้ในการอ้างอิง เพื่อการปกปักรักษา และคัดเลือกสายพันธุ์เด่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2553 กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินโครงการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการในผลลาน ซึ่งลานเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์มที่เติบโตช้า เมื่อต้นแก่อายุราว 60-70 ปี จึงออกผลและตาย จำนวนต้นลานจึงมีน้อยลงทุกปีและใกล้จะสูญพันธุ์หากไม่มีการอนุรักษ์ไว้
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อศึกษาองค์ประกอบและคุณค่าทางโภชนาการอาหารของผลลาน และมะเกี๋ยง
2. เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์พันธุ์ต้นลานในประเทศไทย
3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการทำงานในเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
รายละเอียดการดำเนินโครงการฯ
กรมวิทยาศาสตร์บริการดำเนินการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับต้นลาน และลูกลาน จากข้อมูลหลายแหล่ง และได้ทำการเข้าไปเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่างผลของต้นลาน ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พื้นที่บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคกลาง(ตอนล่าง)และภาคใต้ โดยจะทำการศึกษาสภาพภูมิประเทศและระบบนิเวศน์ในพื้นที่ป่าต้นลาน รวมถึงทำการเก็บตัวอย่างลูกลานสดตามจุดต่างๆ เพื่อนำผลลานมาทำการวิเคราะห์ทดสอบหาองค์ประกอบและคุณค่าทางโภชนาการ ในรายการ ความชื้น ไขมัน กาก ใยอาหาร เถ้า น้ำตาล แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส คลอไรด์ เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม วิตามิน ซี บี1 บี2 บี3
สถานที่ดำเนินงาน
ในช่วงปีงบประมาณ 2553 -2554ได้ทำการศึกษาข้อมูล วางแผนการดำเนินการ เพื่อเข้าสำรวจและเก็บตัวอย่างลูกลานในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคภายในประเทศ เพื่อทดสอบองค์ประกอบด้านโภชนาการ โดยทางหน่วยงานได้เข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลและตัวอย่างลูกลานในพื้นที่ดังนี้
1.ภาคกลาง เข้าสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่ ตำบลบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านโนนสูงมัน บ้านบุพราหมณ์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผืนป่าแห่งเดียวในประเทศที่มีต้นลานขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่บริเวณโครงการพัฒนาป่าดงลาน 2, 3 และ 4 ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
3.ภาคกลาง(ตอนล่าง) เข้าสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่บริเวณ ตำบลวัดละมุด ตำบลบ้านห้วยกรดอำเภอนครชัยศรี ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก ตำบลมดแดง ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
4.ภาคใต้ เข้าสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่บริเวณ ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
กลุ่มเป้าหมายผู้ที่ได้รับประโยชน์
1. บุคคลและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
2. หน่วยงานภาครัฐและชุมชนในพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าต้นลาน
งบประมาณ
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ได้รับงบประมาณ จำนวน 175,000 บาท
- ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ได้รับงบประมาณ จำนวน 161,800บาท
แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
- สำรวจแหล่งของต้นลานในเขตจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- วิเคราะห์องค์ประกอบและสารอาหารของผลลานสดและผลลานแปรรูป เช่น
ผลลานเชื่อม ผลลานลอยแก้ว เป็นต้น
แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
- ให้ความร่วมมือกับโครงการ อพสธ. และ ม. เกษตรศาสตร์ โดยจะเข้าสำรวจและเก็บข้อมูลตัวอย่างผลมะเกี๋ยง ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฯ ในเขตจังหวัดน่าน ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2547
- วิเคราะห์องค์ประกอบและสารอาหารของผลมะเกี๋ยงสด
- สำรวจและเก็บข้อมูลตัวอย่างลูกลานและต้นลานในเขตจังหวัดภาคใต้ และภาคกลาง(ตอนล่าง)
- วิเคราะห์องค์ประกอบและสารอาหารของผลลานสดและผลลานแปรรูป เช่น
ผลลานเชื่อม ผลลานลอยแก้ว เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
ผลลัพธ์ทางตรง
1. ได้ข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการและสารองค์ประกอบในผลลาน
2. ได้ข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการและสารองค์ประกอบของมะเกี๋ยง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิจัย พัฒนาคุณภาพและจำแนกสายพันธุ์ของมะเกี๋ยง เพื่อให้เป็นประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ต่อไป
3. ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้รับรู้ข้อมูลเรื่องประโยชน์ของต้นลานและตระหนักถึงความสำคัญของต้นลานในเชิงนิเวศวิทยา
4. เป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกต้นลานในชุมชนมากยิ่งขึ้น และให้มีการอนุรักษ์พันธุ์ต้นลานซึ่งเป็นพืชที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์
5. เกิดความร่วมมือและการทำงานในเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน
6. เพิ่มพื้นที่ป่าลานให้มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวมภายในบริเวณชุมชน
ผลลัพธ์ทางอ้อม
1. ทำให้เกิดพื้นที่ป่าลานและต้นลานภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่สมดุลมากยิ่งขึ้น
2. ทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์มะเกี๋ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาบริโภคเพื่อเสริมสร้างสุขภาพได้
3. ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะเกี๋ยงในเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
4. ประชาชนในชุมชนพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้มากยิ่งขึ้นจากการนำวัตถุดิบจากต้นลานมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือน ส่งผลให้คนภายในท้องถิ่นมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
5. ประชาชนในชุมชนพื้นที่อพยพหรือย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมืองน้อยลง
ผู้รับผิดชอบ
1.นางบังอร บุญชู นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
โทรศัพท์ 0 2201 7203 โทรสาร 0 2201 7181
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
2.นางสาวพูนทรัพย์ วิชัยพงษ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ
โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
โทรศัพท์ 0 2201 7205โทรสาร 0 2201 7181
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
3.นายมโนวิช เรืองดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ
โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
โทรศัพท์ 0 2201 7208 โทรสาร 0 2201 7181
e-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
หน่วยงานรับผิดชอบ : | กรมวิทยาศาสตร์บริการ |
ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม. 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2201-7000 | |
โทรสาร 0-2201-726 | |
เว็บไซต์ http://www.dss.go.th/ |