หลักการและเหตุผล
ในปีพ.ศ.2519 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงก่อตั้ง “ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ด้วยทรงมีพระราชดำริและพระราโชบายสอดคล้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอันที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มโครงการให้ราษฎรโดยเฉพาะชาวนาในท้องถิ่นชนบททำอาชีพเสริมโดยใช้เวลาว่างจากการ ทำนาทำไร่มาทำงานศิลปาชีพ และเซรามิกก็เป็นหนึ่งในงานศิลปาชีพที่ทรงริเริ่ม จากเดิมที่ราษฎรไม่มีความรู้ใด ๆ ในงานผลิตเซรามิกเลย กรมวิทยาศาสตร์บริการ เริ่มเข้าไปสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 เป็นเวลานานติดต่อกันมากว่า 20 ปี บัดนี้ราษฎรเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในงานผลิตเซรามิกได้มากเพียงพอที่จะผลิตงานรูปแบบต่าง ๆ ออกจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมสมดังพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ในระยะต่อมา กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ขยายพื้นที่การทำงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกให้แก่ศูนย์ศิลปาชีพฯ จากเดิมเพิ่มเป็น 7 แห่ง ทั้งภาคเหนือ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำฯ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านทุ่งจี้ จังหวัดลำปาง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร, ภาคกลาง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง , ภาคใต้ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านรอตันบาตูอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีในระยะต่อมาจะเป็นการนำองค์ความรู้ใหม่ไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิก การอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรที่จัดอบรมจะเป็นการนำผลงานวิจัยใหม่ ๆ ไปเผยแพร่ รวมถึง การอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กรอันจะส่งผลให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น มีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการทำงานกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างประหยัด อบรมความรู้ให้สมาชิกมีความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตได้ด้วยตนเองเพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้แล้วยังได้ให้การสนับสนุนวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อให้คำแนะนำในการทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การจัดทำบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมการขาย
การดำเนินโครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นโครงการฯ ที่มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ ให้สามารถดำเนินการด้านกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาศักยภาพของสมาชิกให้สามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ สวยงามเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้สมาชิกมีงานทำ มีรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชุมชนทั้งเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือนและความเข้มแข็งของชุมชน
วัตถุประสงค์
• เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ ให้มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในกระบวนการผลิต สามารถผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีความสวยงามและคุณภาพดี
• เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เนื้อดินท้องถิ่นทดแทนดินสำเร็จรูปเพื่อลดต้นทุนการผลิต
กิจกรรมและแผนการดำเนินงาน
1. สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือขนาดเล็กและขนาดใหญ่ วัตถุดิบ สีสำเร็จรูปสำหรับกระบวนการผลิต
2. จัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกด้านการพัฒนากระบวนการผลิต การเพิ่มศักยภาพของสมาชิก และการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
3. จัดให้มีการศึกษาดูงานในโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิก
4. จัดนิทรรศการเพื่อแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ
5. จัดเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์บริการไปทำงานประจำที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ เพื่อช่วยงานด้านกระบวนการผลิตเซรามิกที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
งบประมาณ
งบประมาณรวมตลอดโครงการ : 35,345,100 บาท
ปีที่ 1 ( 2551) : 9,126,200 บาท
ปีที่ 2 ( 2552) : 5,859,300 บาท
ปีที่ 3 ( 2553) : 6,000,000 บาท
ปีที่ 4 ( 2554) : 6,929,800 บาท
ปีที่ 5 ( 2555) : 7,429,800 บาท
พื้นที่ดำเนินงาน
1. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ต.เจริญศิลป์ อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร
2. โครงการพัฒนาบ้านแม่ต๋ำ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
3. ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
4. ศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.นราธิวาส
5. โครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ ต.ทุ่งกว๋าว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
6. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านรอตันบาตู ค่ายจุฬาภรณ์(อาคารรับรอง 2) หมู่ที่ 10 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
7. โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ สีบัวทอง หมู่ที่ 3 บ้านยางกลาง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (2551 – 2555)
แผนการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีเซรามิก โครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปีงบประมาณ 2555 | ดาวน์โหลดแผนการจัดฝึกอบรม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ด้านเทคโนโลยี/องค์ความรู้ทางวิชาการ :
- สมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ มีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของศูนย์ศิลปาชีพทั้ง 7 แห่ง ตามศักยภาพของแต่ละศูนย์ฯ
ด้านเศรษฐกิจ :
- เศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชนดีขึ้น
ด้านสังคม :
- ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน มีความเข้มแข็ง ไม่มีปัญหาการละทิ้งถิ่นฐาน
ด้านคุณภาพชีวิต :
- มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากมีเงิน มีงาน ทุกครัวเรือน
ด้านความมั่นคง :
- ราษฎรมีงานทำ เกิดความเชื่อถือและศรัทธาต่อระบบราชการที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
ผู้รับผิดชอบ
1. นางสาวอรุณศรี เตปิน นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการ สำนักเทคโนโลยีชุมชน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทรศัพท์ 0 2201 7377 โทรสาร 0 2201 7373 E-mail
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
2. นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชุมชน สำนักเทคโนโลยีชุมชน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทรศัพท์ 0 2201 7101,7105 โทรสาร 0 2201 7102 E-mail
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
![]() |
||
หน่วยงานรับผิดชอบ : | กรมวิทยาศาสตร์บริการ |
ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กทม. 10400 | |
โทรศัพท์ 0-2201-7000 | |
โทรสาร 0-2201-726 | |
เว็บไซต์ http://www.dss.go.th/ |