กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลงานกระทรวง ผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี อินโฟกราฟิกส์ เครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง

เครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง


  

    ปัจจุบันยางธรรมชาติจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน ในประเทศไทยมีอัตราการผลิตและการส่งออกอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศและเป็นอันดับหนึ่งของโลก การผลิตยางธรรมชาติในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2557 มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 2.62 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 4.32 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 260,000 ล้านบาท


      ในจำนวนนี้เฉพาะยางแท่งคิดเป็นมูลค่า 125,000 ล้านบาท (หรือร้อยละ 48 ของผลผลิตยางทั้งหมด) และมีการส่งออกในรูปของยางดิบไม่ว่าจะเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และอื่นๆ ประมาณ 3.77 ล้านตัน (หรือร้อยละ 87 ของผลผลิตยางทั้งหมด) จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่ายางธรรมชาติจัดเป็นทรัพยากรที่สำคัญทรัพยากรหนึ่งของประเทศ ที่สามารถทำรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งการส่งออกยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยาง และผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง เป็นต้น


    โดยทั่วไปยางดิบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ น้ำยาง และยางแห้ง  ในส่วนของยางแห้งนั้นสามารถแบ่งย่อยได้เป็นยางแผ่น ยางเครฟ และยางแท่งชนิดต่างๆ ถ้าพิจารณาปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติของประเทศไทยระหว่างยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2557 พบว่ายางแท่งมีการผลิตมากที่สุด โดยในปี พ.ศ. 2557 มีการผลิตยางแท่งประมาณ 1.77 ล้านตัน รองลงมาคือยางแผ่นรมควัน ประมาณ 0.81 ล้านตัน และน้ำยางข้นประมาณ 0.77 ล้านตัน ตามลำดับ

      จากข้อมูลจะเห็นว่ายางแท่งมีปริมาณการผลิตที่มาก โดยเฉพาะยางแท่งชนิด STR 20 ที่ผลิตจากยางก้อนถ้วย (Cup Lump) ยางแผ่นดิบคุณภาพต่ำ และเศษยางตัดทิ้ง พบว่ามีปริมาณการใช้ที่สูงมากขึ้น ทั้งการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภายในประเทศและการส่งออกในรูปของวัตถุดิบในตลาดต่างประเทศ ยางแท่งที่มีปริมาณการผลิตรองลงมาได้แก่ ยางแท่งชนิด STR 10 และ STR CV ตามลำดับ
      ส่วนของการผลิตยางแท่ง STR นั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการทดสอบสมบัติต่างๆ ตามที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กำหนดเป็นมาตรฐานยางแท่ง STR (Standard Thai Rubber)  ซึ่งการวัดค่าความอ่อนตัวของยาง เป็นการทดสอบที่มีความจำเป็นต่อการระบุคุณสมบัติของยางแท่งอย่างหนึ่ง สำหรับเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง นั้น ต้องสามารถใช้งานเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D3194 [5], ISO 2007 และ BS 903-A59


     จะเห็นได้ว่าประโยชน์การใช้งานของเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง นั้นมีความสำคัญในการชี้วัดคุณสมบัติของยางดิบเพื่อประกอบการซื้อ-ขาย ยางดิบในอุตสาหกรรมยางอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง นี้เพื่อนำมาใช้งานในห้องปฏิบัติการของโรงงานยางแท่ง และใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
     โครงการพัฒนาเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบ จำนวน 1  เครื่อง  โดยมีคุณลักษณะเฉพาะของด้านสมรรถนะ คือ เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับหาค่าความอ่อนตัวของยางดิบ ตามมาตรฐาน ASTM D3194 สามารถอ่านค่าที่วัดได้ในระบบตัวเลข (Digital Display) ค่า Resolution เท่ากับ 0.5 หน่วย ใช้เวลาในการทดสอบแต่ละชิ้นตัวอย่าง ไม่เกิน 1 นาที การทดสอบกระทำภายใต้อุณหภูมิ 100 +/- 1 องศาเซลเซียส  ด้วยแรงกดขนาด 100 +/- 1 นิวตัน แป้นกดตัวอย่างด้านบน และด้านล่าง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 และ 16 มิลลิเมตร ตามลำดับ ใช้ระบบไฟฟ้าเป็นตัวให้ความร้อนกับแป้นกด ชุดแป้นกดด้านบนมีน้ำหนักขนาด 100 +/- 1 นิวตัน ใช้ทดสอบตัวอย่างยางที่มีความหนา 3.2 – 3.6 มิลลิเมตร และสุดท้ายทำงานด้วยระบบไฟฟ้า  1 เฟส 220 โวลต์ 50 เฮิรตซ์
    ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน และบริษัท เจริญทัศน์ จำกัด สร้างสรรค์ผลงาน “เครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง” ภายใต้โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดผลิตเครื่องขึ้นเองภายในประเทศ และในภาคอุตสาหกรรมยางจะนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาขายต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณ 1,100,000 บาท ดังนั้นหากเครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จะมีราคาต่ำกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 40 – 50 เปอร์เซ็นต์
   


เครดิตข้อมูลโดย  : สำนักส่งและถ่ายทอดเทคโนโลยี

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ :กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Call Center 1313
หรือสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี 0 2333 3924 หรือ http://createc.most.go.th/
 
ข่าวโดย :  นางสาวศิริวรรณ หมินหมัน
ภาพข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง, นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732  โทรสาร 0 2333 3834
e-mail :    อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน   Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป