5 กรกฎาคม 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี /ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศเดินหน้า “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” ดึงรัฐ-เอกชน ร่วมยกระดับ OTOP แบบครบวงจร อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อย. สมอ. สยามพิวรรธน์ ไทยเบฟ SCG Chemical ปตท. ททท. หลังพบมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเกินความคาดหวังกว่า 1,000 ราย
ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการยกระดับโอทอป ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยการมอบ “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” ที่เป็นการให้บริการ 6 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบกระบวนการผลิต ออกแบบเครื่องจักร และพัฒนาระบบมาตรฐาน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอทอปเริ่มต้น (OTOP Start Up) เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอทอป ผู้ประกอบการโอทอปที่ขึ้นทะเบียนแล้วและต้องการยกระดับดาว และผู้ประกอบการโอทอปที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน และต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกนั้น
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการทำงานนี้ คือ การดำเนินงานเชิงระบบในการยกระดับโอทอป โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน และสถาบันทางการศึกษารวม 35 หน่วยงาน ตามแนวทางประชารัฐที่เกิดจากความตั้งใจของทุกฝ่าย และมีแนวทางการจัดทัพในเวลาอันสั้นเพื่อดำเนินงานร่วมกันในปี 2560 ได้แก่
ด้านการส่งเสริม พัฒนา และสนับสุนนชุมชน มีหน่วยงาน 3 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มหัตถอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ SCG Chemical ร่วมกันดำเนินงานการคัดกรองกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์ โอทอป กลุ่มผู้ประกอบการปัจจุบันที่ต้องการยกระดับดาว กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออก ที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) และสถาบันการศึกษาเครือข่ายพันธมิตร 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกันดำเนินงานนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากการวิจัยและพัฒนา ที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการโอทอป
ด้านการเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน มีหน่วยงาน 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกันดำเนินงานการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์
ด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย มีหน่วยงาน 10 แห่ง ประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลจำกัด บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด บริษัทสยามพิวรรธน์จำกัด มูลนิธิสำนักงานพัฒนาตลาดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกันดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และหน่วยงานสนับสนุนด้านการเงินและการธนาคาร มีหน่วยงาน 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ร่วมกันดำเนินงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการต่อยอดธุรกิจของผู้ประกอบการโอทอป
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า จากการเดินทางไปพบผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก สิ่งหนึ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศจีนมีการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันขึ้นอย่างรวดเร็วในเกือบทุกมิติ รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน และในวันนี้ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้นำของอาเซียนด้านเทคโนโลยี ในการเป็นประตูเชื่อมพลังการขับเคลื่อนให้แก่ทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศกล้าร่วมลงทุนกับไทย
ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในงานวิจัยและนวัตกรรม โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำหน้าที่รวมพลังเชิญชวน 2.กลุ่มบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่ร่วมสนับสนุนประชารัฐในมิติต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคม ซึ่งสถิติของการลงทุนการวิจัยของประเทศไทยวันนี้มีมากกว่า 0.6% ต่อ GDP ซึ่งจากเดิมเพียง 0.25 % ต่อ GDP ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลนำโดยภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยรัฐบาลทำหน้าที่สนับสนุนการใช้มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการทางการผลิตกำลังคน 3.กลุ่มสตาร์ทอัพ เป็นกลุ่มที่สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยในอนาคตและในช่วงต้นปี พ.ศ.2560 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งเป้าผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้าง อีโคซิสเต็ม สำหรับสตาร์ทอัพให้แก่อาจารย์และนักศึกษา นอกจากนี้ ในปลาย พ.ศ. 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนทีจะพัฒนาชุมชนสตาร์ทอัพ บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของสยามสแควร์ และกระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น ถนนนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้วยกัน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะทำหน้าที่สนับสนุนอย่างเต็มขีดความสามรถเพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้า โอทอป ให้ก้าวไกลสู่ระดับสากลด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ซึ่งผลแห่งความสำเร็จนี้ จะทำให้ผู้ประกอบโอทอปและเศรษฐกิจฐานรากไทย ก้าวสู่ความมั่งคั่งและมั่นคงอย่างยั่งยืน มีรายได้ เกิดการสร้างงาน และเกิดนวัตกรรมจนเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปีต่อไป
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ภาพและวิดีโอโดย : นายเอกชัย สุนทรเดช และนายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook: sciencethailand
Call center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313