วันที่ 4 เมษายน 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิด โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้แก่โรงเรียนทั้ง 77 จังหวัด กว่า 300 โรงเรียน พร้อมจัดอบรมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงฯ ต้องการให้ประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศไทยได้เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้อย่างทั่วถึง กระทรวงฯ จึงสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ จากเดิมที่ สดร.จะดำเนินโครงการมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์เพียง 60 โรงเรียนเพื่อฉลอง 60 พรรษา ได้เพิ่มเป็นกว่า 300 โรงเรียน ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้เข้าถึงครู นักเรียน และประชาชนกว่าแสนคน หวังจุดประกายให้นักเรียนหันมาสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น
เรื่องแรงบันดาลใจจะเป็นคำตอบสำหรับสังคมที่ดีมาก สื่อการเรียนรู้ที่จะมอบให้สถาบัน จะเป็นส่วนเสริมที่จะทำให้ระบบการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ เป็นขั้นตอนและมีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โครงการดังกล่าว เป็นการขยายโอกาสที่จะทำให้โรงเรียนทั้งหลาย หวังงว่าในอนาคตจะเห็นโรงเรียนกว่า 300 โรงเรียน ใน 3-4 ปี ต่อไปจากนี้ ทางกระทรวงฯ จะพยายามอย่างเข้มแข็งที่จะหางบประมาณมาเพื่อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ส่งต่อให้กับโรงเรียนทั่วทุกภูมิภาคได้เอาไปใช้ประโยชน์ และยังมีการมอบกล้องให้กับโรงเรียนประเทศเพื่อนบ้านของเรา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ส่วนกล้องโทรทรรศน์และสื่อการสอนที่จะมอบให้ในวันนี้เป็นผลงานของคนไทย คิดเอง พัฒนาเอง และก็สร้างเองในประเทศไทย ถือว่าเป็นความสำเร็จของ สดร. ที่พัฒนาไม่เพียงเฉพาะวิชาการ แต่ได้ผลักดันให้เอกชนไทย สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตเองได้ โดยไม่ต้องซื้อหาจากต่างประเทศ สามารถที่จะขยายให้โรงเรียนต่างๆ ใช้ได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ สดร.ยังได้จัดอบรมเพิ่มเติม เพื่อที่จะรับอุปกรณ์เหล่านี้ ได้ใช้กล้องและสื่อการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือโรงเรียนจำนวนมากที่เคยได้รับการสนับสนุนการเรียนการสอนจาก สดร. แล้ว สามารถผลงานวิจัย ไม่เฉพาะครูเท่านั้น แต่นักเรียนสามารถสร้างงานวิจัยได้ ค้นคว้าวิจัยโดยใช้กล้อง และโดยใช้เครือข่ายที่เรามีอยู่ ที่ดอยอินทนนท์ หรือ ในภูมิภาค หรือในประเทศชิลี เด็กไทยทุกคนสามรถเข้าถึงข้อมูลได้
ผลงานวิจัยที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ หลักฐานคือวิจัยดาราศาสตร์มีโอกาสไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ฉะนั้น วันนี้ไม่ใช่ทฤษฎีจากหนังสือเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของการปฏิบัติ สัมผัสจริง ใช้กล้องโทรทรรศน์จริง และผลงานจริง นักเรียนไทยของเราเก่งมากมาย แต่ขอให้มีโอกาส ครูกก็เช่นเดียวกัน
ความตั้งใจในระดับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชัดเจนมาก ว่าวันนี้เป็นก้าวแรก ในโลกปัจจุบันแข่งขันกันมากที่ศักยภาพบุคลากร หรือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรู้ดีๆ ทั้งหลาย ดาราศาสตร์เป็นบันไดขั้นแรกสู่วิทยาศาสตร์ โดยเชื่อมั่นว่าดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือ ที่จะสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ และสังคมของเราได้อย่างยั่งยืน และจะเป็นกลไกที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร เพื่อที่จะมีอาชีพที่ดีและพัฒนาประเทศต่อไป
หลังจากพิธีเปิดโครงการและมอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมสื่อการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนต่างๆ แล้ว ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร วท. เจ้าหน้าที่ ครู และนักเรียนทุกคน รวมถึงประชาชนผู้สนใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ขึ้นไปชมจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งเดียวของปีนี้ บนดาดฟ้าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งกล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวหลายสิบตัว พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ของสถาบันฯ ไปทั่วประเทศอีกด้วย
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน facebook : sciencethailand