(29 มิถุนายน 2559) ณ หอประชุมสถาบันเอไอที : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้จัดแถลงข่าว “พิธีลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการในการสนับสนุนบุคลากร สวทช. ให้บริการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ” เพื่อส่งเสริมและสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้น และทำงานวิจัยร่วมกันมากขึ้น โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ประธานคณะกรรมการอำนวยการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในสร้างเสริมการวิจัยและพัฒนา จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของความร่วมมือกับเอไอที สวทช. มีนักวิจัยที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเกือบ 500 คน ที่สามารถให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงแก่นักศึกษาในการทำวิจัย/วิทยานิพนธ์ อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากลจำนวนมาก ที่ยินดีรับนักศึกษาเข้ามาทำวิจัย ส่วนเอไอทีเอง มีอาจารย์และนักศึกษาที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งการร่วมมือกัน จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ในเบื้องต้น สวทช. ได้ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ/นักวิจัยจำนวน 11 คน ในสาขาวิชาต่างๆ ร่วมให้คำปรึกษาและบริการทางวิชาการกับสถาบันเอไอที โดยประกอบด้วยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่ง สวทช. คาดหวังว่า ความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว จะก่อให้เกิดการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพของบุคลากรด้านการวิจัย สำหรับนักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นอาจารย์ประจำแบบพิเศษ โดยปฏิบัติงานต้องไม่เกิน 3 หน่วยกิตต่อภาคการศึกษา หรือไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อ
สัปดาห์ ในงานวันนี้ นักวิจัยของ สวทช. ได้นำเสนองานวิจัยที่ สวทช. ดำเนินการอยู่ที่น่าจะพัฒนาความร่วมมือกับเอไอที ภายใต้บันทึกความตกลงนี้ได้ โดยงานที่นำเสนอ เป็นงานวิจัยที่สามารถตอบสนองการพัฒนาโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ โครงการ Food Innopolis ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร มุ่งเน้นที่จะดึงดูดบริษัทผู้ผลิต หรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยในทุกระดับตั้งแต่ Startup, SMEs ไปจนถึงบริษัทไทยขนาดใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก ซึ่งในเฟสแรก ณ วันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งล้อมรอบหน่วยวิจัยและมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่ง เอไอที ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาบุคลากรร่วมกันอย่างยั่งยืน
ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า เอไอที มีความต้องการบุคลากรทางด้านวิชาการเป็นอย่างมาก จึงได้ปรึกษากับ สวทช. เพื่อหาความร่วมมือกันในด้านวิชาการ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ในส่วนของบุคลากรจาก สวทช. ที่จะมาร่วมงานกันนี้จะเป็นอาจารย์พิเศษ และจะได้รับการรับรองจากเอไอทีในการมาเป็นอาจารย์พิเศษ นอกจากนี้ยังเป็นการร่วมกันทำงานวิจัยและแลกเปลึ่ยนความรู้กันได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษโดย ศ. ฮิโรยูกิ โคนูมะ ที่ปรึกษาอาวุโสของอธิการบดีสถาบันเอไอทีและอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารมาให้ความรู้ด้วย
ข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)