วีลแชร์ไฮเทคควบคุมด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว เปิดโอกาสผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทันตกรรมได้สะดวก อีกหนึ่งความสำเร็จของเอสเอ็มอีที่สร้างความแตกต่างและก้าวข้ามปัญหาของปลอมได้ด้วย วทน. ภายใต้การบ่มเพาะอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สิ่งประดิษฐ์นี้ดำเนินการวิจัยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 กระทั่งออกสู่ตลาดเมื่อปี 2557 ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคลินิก ทันตกรรมต่างๆ โดยติดตั้งไปแล้ว 4 เครื่องและรอการติดตั้งอีก 10 กว่าเครื่อง ทั้งยังส่งไปจำหน่ายในประเทศเยอรมนี กำหนดราคาขายเริ่มต้น 2.8 แสนบาท แต่ถ้าเป็นเก้าอี้ที่ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือครบชุด เช่น ระบบผ่าตัด ด้ามกรอฟัน ระบบดูดน้ำลาย ราคา ประมาณ 4.38 แสนบาท ขณะที่ราคาเก้าอี้ทำฟันธรรมดาจากต่างประเทศราคา 7 แสนบาท

นวัตกรรมเพื่อผู้พิการ
งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) (สวทช.) สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ และศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางการแพทย์แห่งชาติ ทั้งยังได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ปี 2557 จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้นอกเหนือจากราคาก็คือ เป็นระบบที่ดูแลง่าย สามารถซ่อมเองได้ เนื่องจากกลไกไม่ซับซ้อน คงทนกว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไฟฟ้า
ประพันธ์ วิไลเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านทันตกรรม กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการต่อยอดเทคโนโลยีด้านสมองกลฝังตัวให้เป็นวีลแชร์ทำฟัน สำหรับช่วยให้ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้ารับบริการด้าน
ทันตกรรมได้ โดยไม่ต้องถูกอุ้มย้ายจากรถเข็นของคนไข้ เพียงแค่เข็นวีลแชร์นี้เข้าไปอยู่ในเครื่องแล้วรับบริการได้เลย
บริษัท ไทยเด็นทอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กทำธุรกิจผลิตเก้าอี้ทำฟัน และต้องการสร้างความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ จึงนำโจทย์ความต้องการเข้าหารือกับ สวทช. ซึ่งได้ส่งต่อไปยังเนคเทคที่มีแนวคิดให้นำระบบสมองกลฝังตัวมาใช้แทนระบบมอเตอร์ควบคุมเก้าอี้ทำฟัน ขณะเดียวกันทาง สวทช. ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการจัดทำแผนธุรกิจและการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์สิรินธรในการทดลองใช้เครื่องต้นแบบ รวมทั้งการยื่นขอการรับรองมาตรฐานไอเอสโอเครื่องมือแพทย์เพื่อการส่งออก
ทั้งนี้ การติดตั้งค่อนข้างล่าช้าเพราะแต่ละ สถานพยาบาลมีความต้องการสเปกของเครื่องต่างกัน เช่น บางแห่งต้องการให้ชุดเก้าอี้มีน้ำหนักเบาพิเศษเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย เพื่อรองรับการให้บริการนอกสถานที่ จึงต้องออกแบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ถือเป็นจุดแข็งที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบ เนื่องจากบริษัทมีทีมวิจัยค่อยสนับสนุนและออกแบบ
.jpg)
ดีไซน์ตามใจผู้ซื้อ
สภาวะการแข่งขันทาง การค้าอย่างรุนแรงในปัจจุบัน บริษัทที่สร้างนวัตกรรมจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น บริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาพบว่ามีแรงกดดันในการสร้างนวัตกรรมเช่นกัน โดยการสร้างนวัตกรรมช่วยก่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้การค้าขายสินค้าเป็นไปได้ด้วยดี แข่งขันได้ในตลาดไทยและตลาดโลก เนื่องจากเป็นบริษัท ไซส์เล็ก เงินทุนไม่หนา จึงต้องมุมานะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตลอดเวลา กระทั่งได้รับมาตรฐานและความไว้วางใจจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้แบรนด์ "ไทยเด็นทอล" เป็นที่รู้จักในวงการเครื่องมือแพทย์ สังเกตได้จากยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งการถูกนำชื่อไปแอบอ้างขายสินค้านำเข้า จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ พร้อมกับแนะนำให้ลูกค้าสั่งซื้อโดยตรงจากบริษัท เพื่อมั่นใจว่าได้ของแท้พร้อมบริการหลังการขาย
ปัจจุบัน ไทยเด็นทอล ลงทุนขยายสาขา 6 สาขา เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศและรองรับ เออีซี หลังจากรุกเข้าไปเปิดตลาดในเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย บูรไนรวมทั้งอินเดีย ทั้งในรูปแบบ พาร์ทเนอร์ชิพและกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
แหล่งที่มา : บุษกร ภู่แส. 2558. 'ไทยเด็นทอล'มิติใหม่เก้าอี้ทำฟัน. กรุงเทพธุรกิจ (innovation). ฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558, หน้า 7