กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ผลงานกระทรวง งานวิจัย..ใช้ได้จริง การพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์

การพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์

พิมพ์ PDF

     ที่ผ่านมาประเทศไทยจำเป็นต้องซื้อวัสดุสังเคราะห์สำเร็จรูปที่ต้องนำเข้า จากต่างประเทศมาใช้ในการสร้างลู่-ลานกรีฑา และสนามกีฬาเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAFF) กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้าง ลู่-ลานกรีฑา” เพื่อสร้างลู่-ลานกรีฑาให้ได้ตามมาตรฐานสากล (IAFF) โดยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในการแปรรูปยางพาราและลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรอีกทางหนึ่งด้วย 

     รัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเร่งด่วนในการใช้ยางธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อนำไปใช้ ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยางธรรมชาติในการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ ผลงานของ “ดร.อรสา อ่อนจันทร์” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อลดปริมาณยางในสต็อกของรัฐบาล และดำเนินการสำรวจความต้องการใช้ยางธรรมชาติในเรื่องดังกล่าว โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร
     ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จึงได้จัดสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีการสร้างลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์โดยใช้ยางธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งได้เชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๑๔๐ คน เข้ารับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลและขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแปรรูปยางธรรมชาติ ในการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ การใช้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดยาง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมก่อสร้าง
     จากผลการสัมมนาฯ ดังกล่าวมีผู้สนใจและแจ้งความประสงค์จะขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยา ศาสตร์บริการ จำนวน ๗๘ ราย โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่มอุตสาหกรรมยาง จำนวน ๔๘ ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ๒๖ ราย ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยางธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไปใช้ประโยชน์ในเชิง พาณิชย์ต่อไป การฝึกอบรมนี้ ประกอบด้วย ๒ หลักสูตรๆ ละ ๑ วัน โดยมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยวิทยากรการฝึกอบรมเป็นบุคลากรภายในกรมวิทยาศาสตร์บริการตลอด หลักสูตร ระหว่างวันที่ ๙ – ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ดังนี้
     ๑. หลักสูตร “เทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์” จำนวน ๘ ครั้งๆ ละ ๑ วันๆ ละ 6 ชั่วโมง เริ่มอบรมวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ 2558
     ๒. หลักสูตร “เทคโนโลยีการผลิตเม็ดยางเพื่อนำไปใช้ในการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์” จำนวน ๗ ครั้งๆ ละ ๑ วันๆ ละ 6 ชั่วโมง เริ่มอบรมวันที่ 19-27 กุมภาพันธ์ 2558
 
     พื้นลู่ลานกรีฑา ที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วย 2 ชั้น ชั้นแรกด้านล่างเป็นชั้นที่ใช้รองรับน้ำหนักของพื้นจะมีความหนาประมาณ 10 มิลลิเมตร ประกอบด้วยส่วนผสมของพอลียูรีเธนและเม็ดยางดำ โดยสามารถใช้ยางธรรมชาติหรือเม็ดยางครัมบ์ (ขยะยาง เช่น ยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพ) เพื่อทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ได้ถึง 100% ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน 
     ส่วนชั้นที่สองด้านบน จะเป็นชั้นที่ใช้สร้างแรงเสียดทานของผู้ใช้กับพื้นสนามกีฬา มีความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ประกอบด้วยพอลียูรีเธนและเม็ดยางแดง สามารถใช้ยางธรรมชาติร่วมกับยางสังเคราะห์ในอัตราส่วน 60 : 40 การ สร้างลู่ลานกรีฑาโดยใช้สูตรที่คิดค้นขึ้นนี้ มีค่าใช้จ่ายตารางเมตรละประมาณ 1,700 บาท เมื่อคำนวณจากต้นทุนยางกิโลกรัมละ 50 บาท ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในงานทำพื้นลู่ลานกรีฑาในแบบเดิมที่ต้องนำ เข้า คิดเป็นตารางเมตร 2,500 บาท พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 30% สนามกรีฑา มาตรฐานซึ่งมีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 5 ล้านบาท และที่สำคัญหนึ่งสนามจะใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศประมาณ 12 ตัน

ขั้นตอนการเตรียมพื้นลู่-ลานกรีฑา
 
 1. ทำความสะอาดและทาขี้ผึ้งที่ถาด
 
2. ผสม isocynate กับ Poltols
 
3. ใส่เม็ดยางดำกวนผสมให้เข้ากัน
 
4. เทลงบนถาดและเกลี่ยให้ได้ระดับทิ้งไว้ให้คงรูปประมาณ 2 ชั่วโมง (ชั้นที่ 1)
 
5. เทส่วนผสมชั้นที่ 2 ทิ้งไว้ให้คงรูปประมาณ 2 ชั่วโมง
 
6.เทส่วนผสมชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นน้ำยางพอลิยูรีเธน
 
7.โรยเม็ดยางแดง
 
8.ชิ้นตัวอย่างพื้นลู่-ลานกรีฑาที่สำเร็จ
 
9. การทดสอบความทนทานพื้นลู่-ลานกรีฑา ด้วยเครื่องทดสอบแรงกระแทก

 
     นอกจากนี้ สื่อมวลชนที่สนใจสามารถติดตามเข้าร่วมทำข่าวกิจกรรมดังกล่าวได้ที่สถานฝึกอบรมหลักสูตร เทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ ในวันที่ 1-18 กุมภาพันธ์ 2558 ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และหลักสูตร เทคโนโลยีการผลิตเม็ดยางเพื่อนำไปใช้ในการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลาน อเนกประสงค์ ในวันที่ 19-17 กุมภาพันธ์ 2558 โดยฝึกอบรมภาคทฤษฎี ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และฝึกปฏิบัติ ณ อาคารโรงงานเซรามิก สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ
  ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยางแล้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติของพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬาและพื้นลานเอนกประสงค์ตามมาตรฐานสากลกำหนด 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ  
เลขที่ 75/7ถนนพระรามที่ 6ราชเทวี กรุงเทพฯ  10400 
โทร 0 2201 7097-8  โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป