.jpg)
บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) จึงลงนามความร่วมมือกับ สวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการจัดทำมาตรฐานทางด้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง "ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล" รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า รถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน และจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเข้ารถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งสวทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตลอด โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2549 มีการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบโครงสร้างสำหรับรถไฟฟ้า ที่ต้องมีความแข็งแรง ปลอดภัยรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่ การออกแบบมอเตอร์ วิเคราะห์และเลือกใช้งานแบตเตอรี่ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบอินเวอร์เตอร์สำหรับควบคุมมอเตอร์และระบบแอร์ในรถไฟฟ้า ออกแบบระบบเบรกและอีซียู (ECU) ควบคุมการทำงานโดยรวมของรถไฟฟ้า รวมถึงการออกแบบระบบการชาร์จไฟ และการทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล เรียกว่ามีงานวิจัยอย่างครบวงจรและมีการทดสอบประสิทธิภาพพร้อมทั้งปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สวทช. ได้ลงนามความร่วมมือกับล็อกซเล่ย์เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย และยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ด้านนายธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ เปิดเผยว่า ล็อกซเล่ย์ ส่งเสริมการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และพลังงานจากสาหร่าย ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการทางเทคโนโลยียานยนต์ ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งล็อกซเล่ย์ให้ความสนใจโดยจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เสริมกับธุรกิจยานยนต์ที่บริษัทมีอยู่
สำหรับแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของล็อกซเล่ย์ "ดร.โกศล สุรโกมล" ที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า การพัฒนาร่วมกันในเบื้องต้น 2 ปีแรก จะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนารถบัสไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์หรือจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งช่วงแรก บริษัทมีแผนนำเข้ารถไฟฟ้าจากต่างประเทศไปด้วย ควบคู่ไปกับการพัฒนาต้นแบบร่วมกับ สวทช. ซึ่งเน้นการพัฒนาให้สามารถผลิตและใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากที่สุด
ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นเอง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย ถ้าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางหรือฮับด้านยานยนต์ ในภูมิภาคอาเซียน
ข้อมูลโดย : นาตยา คชินทร
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
เผยแพร่ข้อมูลโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.