
เทคโนโลยีการบำบัดขยะด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT, Mechanical and Biological Waste Treatment) ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยขบวนการทางชีววิทยาของแบคทีเรียในการย่อยสลายอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในขยะมูลฝอย โดยอาศัยแอโรบิคแบคทีเรีย (Aerobic Bacteria) ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมในด้านความชื้น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน รวมทั้งสัดส่วนระหว่างคาร์บอนและไนโตรเจน ร่วมกับการพลิกกลับกองด้วยเทคนิคเชิงกล
ทั้งนี้ การบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธี MBT ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะทำให้สามารถลดระยะเวลาในการหมักเหลือเพียง 1 เดือน โดยอาศัยเทคโนโลยีการกลับกองขยะด้วยสกรูในแนวตั้ง (Vertical Agitators) ซึ่งจะทำให้กองขยะที่อยู่ทางด้านล่างมีโอกาสสัมผัสกับอากาศได้มากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพได้ดีขึ้น และยังป้องกันการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนทางด้านล่างของกองขยะที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นคุณสมบัติของขยะที่ผ่านกรรมวิธีการบำบัดโดยวิธี MBT จะมีน้ำหนักลดลงประมาณร้อยละ 65 และมีความชื้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 20 โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่เหลือจะเป็นขยะจำพวกพลาสติกประมาณ ร้อยละ 80 ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse-derive Fuel) และเศษที่เหลือคืออินทรียวัตถุ หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปริมาณคาร์บอนสูง สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ ซึ่งเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะชุมชุนแบบครบวงจรและเป็นรูปธรรม ทั้ง การคัดแยก การกำจัด และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แนวคิดในการออกแบบกระบวนการบำบัดขยะด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT, Mechanical and Biological Waste Treatment) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีความแตกต่างกับเทคโนโลยีอื่น คือ ดำเนินการปรับสภาพของขยะโดยวิธีการหมัก (ทางชีวภาพ) ก่อนทำการคัดแยก (ทางกล) โดยจะทำการแยกขยะออกจากถุงบรรจุและคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เช่น กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และ พลาสติก รวมถึงเศษเหล็ก ออกก่อนโดยใช้แรงงานคนบนสายพานคัดแยก (Hand Sort Conveyer) ขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วจะถูกนำไปย่อยหยาบ โดยใช้เครื่องสับแบบ Hammer Mill เพื่อลดปริมาตรให้เหมาะต่อการจัดการ ขยะที่ถูกฉีกนี้จะถูกลำเลียงเข้าสู่โรงบำบัดทางกลและชีวภาพ (Mechanicaland Biological Treatment) รวมกันทั้งขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร และขยะอนินทรีย์ เช่น ถุงพลาสติก เศษกระดาษ เพื่อปรับเสถียรภาพของขยะให้เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้โรงบำบัดทางกลและชีวภาพ (Mechanicaland Biological Treatment) ถูกออกแบบให้เป็นโรงปิดที่มีระบบกวน ทำหน้าที่ผสมและเติมอากาศ ทำให้ประสิทธิภาพการย่อยสลายสูง ทำให้ระยะเวลาการย่อยสลายเร็ว ทั้งนี้ ประมาณ 1 เดือน การหมักจะสิ้นสุดลงและขยะมีเสถียรภาพปราศจากกลิ่น และทำการคัดแยกโดยใช้เครื่องคัดแยกแบบตะแกรงหมุน (Trommel Separator) จะได้ส่วนประกอบ คือ1) อินทรีย์สารผงละเอียด (ปุ๋ยอินทรีย์) ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นวัสดุปรับปรุงดิน 2) อินทรีย์สารผสมพลาสติก และ พลาสติก หรือเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถนำไปทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิสในภาคอุตสาหกรรมได้
การขยายผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ ปัจจุบันได้ขยายผลไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง ได้แก่ 1)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองรับขยะปริมาณ 10ตัน/วัน 2) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด รองรับขยะถุงพลาสติกชีวภาพ ปริมาณ 5 ตัน/วัน 3) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย แก่งคอย จำกัด ที่ตั้ง ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รองรับขยะชุมชนปริมาณ 5 ตัน/วัน 4) เทศบาลตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รองรับขยะชุมชนปริมาณ 5 ตัน/วัน 5) องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จ. พังงา รองรับขยะชุมชนปริมาณ 5 ตัน/วัน
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ อบต.เกาะยาวน้อย ในด้านหลักการทำงานของระบบและเครื่องจักร การเดินระบบ และการบำรุงรักษา โดยฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับ อบต. เกาะยาวน้อยและชุมชน และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลโดย : ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โทรศัพท์ 0-4422-5007 โทรสาร 0-4422-5046 Email:
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
เรียบเรียงข้อมูลโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.