.jpg)
แสงซินโครตรอน คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนแสงอาทิตย์ แต่มีความเข้มมากกว่าเป็นล้านเท่า นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้แสงนี้ ซึ่งผลิตโดยเครื่องกำเนิดแสง เพื่อการวิเคราะห์วิจัยทางวัสดุต่างๆ ลงลึกถึงระดับอะตอมและโมเลกุล การวิเคราะห์หรือวิจัยโดยใช้แสงซินโครตรอน สามารถลดข้อจำกัดต่างๆ ของการวัดด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการทั่วไป ให้ผลวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สามารถวิเคราะห์โครงสร้างสารขนาดเล็กมากระดับอะตอม จนถึงขนาดใหญ่ระดับโมเลกุลได้ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์หรือติดตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสารขณะเกิดปฏิกิริยาในระดับหนึ่งในสี่ของวินาที ด้วยศักยภาพดังกล่าวของแสงซินโครตรอน จึงสามารถตอบโจทย์วิจัยแก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลายกลุ่มงาน เช่น
1. กลุ่มอุตสาหกรรมยาง และพอลิเมอร์
2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
3. กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
4. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตแม่แบบขนาดจิ๋ว
5. กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ วัสดุก่อสร้าง และวัสดุอื่น ๆ
6. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน
7. กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี
นโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มุ่งหวังให้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ประเทศก้าวพ้นหุบเหวกับดักประเทศที่มีรายได้ ปานกลาง (middle-income trap) เพราะการจะสามารถแข่งขันกับประเทศในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกได้นั้น มีความจำเป็นต้องส่งเสริมภาค การวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง สามารถสร้างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า สามารถยกระดับการผลิตมาสู่สินค้าไฮเทค และการพัฒนาตราสินค้าด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ซึ่งในปัจจุบัน อุตสาหกรรมหลายรายการในประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ระดับโลก เช่น ยางพารา กุ้งแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ฮาร์ดดิสก์ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1 ต่อ GDP โดยภาคเอกชนมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 70 ของมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดในปี 2559 ซึ่งการให้ความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในการลงทุนเพื่องานวิจัย เป็นการส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ และเสถียรภาพ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้เริ่มดำเนินการสนับสนุนงานวิจัยตอบโจทย์ให้อุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่เริ่มให้บริการภาคอุตสาหกรรมให้ผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย และสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือวิจัยไปสู่หน่วยงานอื่นๆ ได้อีกด้วย"
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งการบริการวิเคราะห์ทดสอบ การร่วมวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมหรือแก้ปัญหากระบวนการผลิต การให้คำปรึกษา โดยนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ พร้อมด้วยการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่หน่วยงานพันธมิตรหลายหน่วยงาน เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศเพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน มั่นคง และเข้มแข็งของประเทศ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในระยะยาว
ที่มาของข้อมูล : สถาบันวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์ 02-354-3954 โทรสาร 02-354-3955 เว็ปไซต์ http://www.slri.or.th/th/
เผยแพร่ข้อมูลโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
Tags การพัฒนา - นวัตกรรม - อุตสาหกรรม - แสงซินโครตรอน - อุตสาหกรรมยาง - พอลิเมอร์ - อุตสาหกรรมอาหาร - ยา - เครื่องสำอาง - อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ - แม่แบบขนาดจิ๋ว - อัญมณี