ทุกปีจะมีการตัดสินรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อคัดเลือกนักวิจัยที่สามารถสร้างผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและสร้างความรู้ใหม่ของโลก และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และที่สำคัญคือมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลงานเป็นที่ประจักษ์
สำหรับในปี 2557 นี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็คือ ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม ผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่ทำร่วมกับคณะนักวิจัยกรมประมง โครงการหลักที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด คือ โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตกลุ่มปลากะรัง 3 ชนิด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ "ปลาเก๋า" ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือ และปลาหมอทะเล ซึ่งเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและมีจำนวนในธรรมชาติลดลง ให้มีอัตราการรอดตายสูง เพื่อใชัจำหน่ายให้เกษตรกร และลดปริมาณการนำเข้าลูกปลา ด้วยการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์ การพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยง การพัฒนาเทคนิคการอนุบาล และพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนดะ ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ การที่นักวิจัยสามารถสร้างผลงานเรื่องการเพาะเลี้ยงปลากะรังที่มีมูลค่าสูงทั้งสามชนิดได้เป็นผลสำเร็จนั้น ทำให้เราสามารถสร้างธุรกิจการเลี้ยงปลาเหล่านั้นในกระชังได้ โดยไม่ต้องไปจับจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันเริ่มหายากขึ้นและมีราคาสูงมากจนกระทั่งผู้บริโภคทั่วไปไม่สามารถเอื้อมถึง และในอนาคตอันใกล้นี้ จะเกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรและสร้างธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลากะรังทั้งสามชนิดที่ตลาดมีความต้องการมากเช่นนี้ กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรและไปผูกโยงกับธุรกิจอื่นเช่นเรื่องของการท่องเที่ยวได้
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ทำควบคู่กันอีกชิ้น คือ เทคโนโลยีการผลิตลูกปูม้า ที่เป็นสัตว์ทะเลชายฝั่งเศรษฐกิจที่นิยมส่งออกในรูปของปูกระป๋อง โดยพัฒนาการฟักไข่ปูม้าจากตับปิ้งของแม่ปูไข่นอกกระดอง แทนที่แต่เดิมจะต้องถูกการทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เธอจึงติดต่อไปยังโรงงานผลิตปูกระป๋อง เพื่อให้ทางโรงงานคัดแยกตับปิ้งที่มีไข่ไว้ แล้วนำมาอนุบาลต่อจนฟักเป็นลูกปู ซึ่งทำให้ได้พันธุ์ลูกปูจำนวนมากโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆยกเว้นค่าขนส่ง เพื่อนำมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ขายให้กับเกษตรกรในราคาถูก และปล่อยลงสู่ท้องทะเลปีละหลายล้านตัว
ถัดมาในส่วนของ รศ.ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทบุคคล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ เพื่อใช้แทนการหล่อโลหะแบบเดิมซึ่งมีข้อจำกัดหลายๆประการ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงและอายุการใช้งานของเครื่องจักรเป็นไปอย่างจำกัด รศ.ดร. เจษฎา วรรณสินธุ์ ได้พยายามคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบใหม่ขึ้นโดยใช้เวลาถึง 11 ปีและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบ "สเลอร์รี่" ได้เป็นคนแรกของโลก โดยมีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย
รศ.ดร. เจษฎา อธิบายว่า การหล่อแบบสเลอรี่ (Slurry Metal Casting Technology) เป็นวิธีการหล่อโลหะแบบกึ่งของแข็ง คือน้ำโลหะที่ใช้จะไม่เหลวเหมือนน้ำแต่จะมีความหนืดมากขึ้นคล้ายวุ้น ซึ่งคุณสมบัติของความหนืดนี้จะทำให้ได้เนื้องานที่มีคุณภาพดีกว่าแบบเดิม เพราะเมื่อนำไปหล่อขึ้นรูปจะไม่เกิดฟองอากาศที่สามารถเข้ามาแทรกได้หากโลหะมีความหนืด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องฉีดชิ้นส่วนอะลูมิเนียม (Aluminum Die Casting) ได้ง่ายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรใดๆ ซึ่งข้อดีของการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ คือ น้ำโลหะที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีอุณหภูมิที่สูงมากเท่าแบบเดิม ทำให้การใช้พลังงานในการหลอมโลหะลดลง และเมื่ออุณหภูมิโลหะลดลงเครื่องจักรและแม่พิมพ์ก็จะใช้งานได้นานมากยิ่งขี้น ทำให้สามารถผลิตโลหะขึ้นรูปได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำลงและมีคุณภาพที่สูงขึ้น
“สเลอร์รี่” มีลักษณะคล้ายๆเบียร์วุ้น ที่มีความหนืดมากกว่าน้ำ ซึ่งการหล่อโลหะแบบปกติน้ำโลหะที่ใช้จะเหลวคล้ายน้ำทำให้เกิดปัญหาฟองอากาศ แต่หล่อแบบสเลอร์รี่จะไม่เกิดปัญหาแบบนั้น เพราะเมื่อมีความหนืดมากกว่า โอกาสที่จะเกิดฟองอากาศขณะขึ้นรูปจึงมีน้อยกว่า การบังคับควบคุมทิศทางก็ทำได้ง่ายกว่า และอุณหภูมิที่ใช้ก็ไม่สูงเท่าแบบปกติ ส่งผลดีทั้งในแง่คุณภาพและต้นทุน
รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น เป็นรางวัลที่มีเกียรติ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การที่มีนักเทคโนโลยีได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันในความสามารถและคุณภาพของผลงานและของทีมงานได้เป็นอย่างดี หากมีการพัฒนาและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องก็จะสร้างผลงานดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อีกมหาศาล
ข้อมูลโดย : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ โทรศัพท์ 0-2252-4516, 0-2218-5245
เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
Tags นักเทคโนโลยีดีเด่น - ปลาเก๋า - ปลากะรังจุดฟ้า - ปลาเก๋าเสือ - ปลาหมอทะเล - ลูกปูม้า - ปูกระป๋อง - หล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ - สเลอร์รี่ - Slurry