สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพร่วม IAEA อบรมระดับภูมิภาคให้ความรู้บุคลากรในภูมิภาคเอเชีย ๑๗ ประเทศ หวังให้แต่ละประเทศเข้าใจแนวทางการป้องกันทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ นี้ ณ เดอะเฮอริเทจพัทยาบีช รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี
นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ นี้ ปส. ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จัดอบรมระดับภูมิภาค Regional Training Course on the Implementation of Nuclear Security Recommendations on Physical Protection of Nuclear Material and Nuclear Facilities (INFCIRC/225/Revision 5) หรือ การดำเนินการตามข้อแนะนำของการรักษาความปลอดภัยนิวเคลียร์ในการป้องกันทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๕) หวังเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงมาตรการการป้องกันทางกายภาพของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ส่งเสริมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัย โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ จำนวน ๑๗ ประเทศเข้าร่วมอบรม ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อิสราเอล อิหร่าน จอร์แดน บังคลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม และไทย
“สำหรับประเทศไทยได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย อาทิ ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้นกว่า ๕๐ คน ปส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
นายสุพรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า IAEA ได้จัดทำแนวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ครอบคลุมหลายหัวข้อ หนึ่งในนั้น คือ ข้อแนะนำในการป้องกันทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์และสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ซึ่งฉบับปรับปรุงสุดท้ายคือ INFCIRC/225/Revision 5 โดยเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการป้องกันระหว่างขนย้ายวัสดุนิวเคลียร์ มาตรการป้องกันการก่อวินาศกรรม การนำวัสดุนิวเคลียร์ที่สูญหายกลับคืน การลดผลกระทบทางรังสีหลังการเกิดวินาศกรรมกับวัสดุนิวเคลียร์ หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๒๑๒๓ , ๑๔๒๓ , ๓๖๑๔
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ