สื่อสารในภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพร่วม IAEA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หวังให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ด้านนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคเอเชีย กว่า ๗ ประเทศ มีทักษะและความพร้อมต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ นี้ ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ เชียงใหม่
นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ นี้ ปส. ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และเครือข่ายความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย (Asian Nuclear Safety Network : ANSN) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง Communication During Emergencies (Phase II) หวังเพิ่มทักษะด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้ง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จากประเทศต่างๆ ภายใต้เครือข่าย ANSN อาทิ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย จำนวนประมาณ ๔๐ คน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA มาเป็นวิทยากร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และฝึกปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงขั้นตอนและกระบวนการในการทำงานอย่างแท้จริง
“สำหรับประเทศไทยได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ปส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละประเทศ โดยเฉพาะของประเทศไทย ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
นายสุพรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากภารกิจในการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติแล้ว ปส. ยังดำเนินการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานปรมาณูไปสู่ประชาชนภายในประเทศไทยให้เป็นที่แพร่หลายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของกลุ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Communication Topical Group : CTG) ซึ่งจัดตั้งโดย ANSN เพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้และฝึกปฏิบัติให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคเอเชีย สามารถแลกเปลี่ยนและฝึกฝนประสบการณ์เกี่ยวกับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ โทร. ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๑๑๒๓ - ๑๑๒๔
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ