โดย นายสมบัติ สมศักดิ์
โครงการวิศวกรรมย้อนรอย มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำโดยไม่ได้พัฒนา ซึ่งตามกฎหมายแล้วการทำวิศวกรรมย้อนรอยหรือวิศวกรรมย้อนกลับไม่ผิดกฎหมาย เพราะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๗ “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้แก่ความลับทางการค้า มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า...” และ “(๔) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ ได้แก่ การค้นพบความลับทางการค้าของผู้อื่น โดยผู้ค้นพบได้ทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพื่อค้นคว้า หาวิธีที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการประดิษฐ์ จัดทำหรือพัฒนา แต่ทั้งนี้ บุคคลที่ทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะต้องได้ผลิตภัณฑ์เช่นว่านั้นมาโดยวิธีที่สุจริต”
สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) ได้ดำเนินงานโครงการศึกษา พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering: RE) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปี ๒๕๕6 ได้ร่วมทุนกับสถาบันการศึกษา สถาบันทางวิชาการ สถาบันวิจัย สมาคม และผู้ประกอบการภาคเอกชนมากกว่า 64๐ ล้านบาท และมีการสนับสนุนโครงการไปแล้วจำนวนมากถึง 99 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการผลิตเครื่องจักรกลทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามโครงการวิศวกรรมย้อนรอยยังคงเป็นชื่อโครงการที่ผู้ได้ยินรู้สึกติดภาพลบทั้งในและต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2554 จึงมีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อโครงการ ประกอบกับการขยายขอบเขตการสนับสนุนของโครงการให้ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ต่อยอดจากการทำวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศ
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2555 โครงการวิศวกรรมย้อนรอย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ด้วยเหตุผลและความหมายของชื่อโครงการตามที่ได้กล่าวมา นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากจะเปลี่ยนชื่อโครงการแล้ว ยังมีการปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานของโครงการให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในไทย ถึงแม้ไม่มีต้นแบบจากต่างประเทศก็ตาม กล่าวคือ สามารถครอบคลุมเทคโนโลยีที่เกิดจากการต่อยอดเทคโนโลยีเดิมให้กลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่เป็น Local Content ของไทย ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตหลายสิบปีของการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทย เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของต่างชาติในไทย ก็จะทราบว่าแนวคิดเรื่อง Local Content ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแม้แต่น้อย การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยมีมานานกว่า 20 ปี แล้ว ซึ่งก็ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็น Local Content จำนวนมากโดยเฉพาะอุตสากรรมยานยนต์ และ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แต่ทว่าความยั่งยืนเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมีข้อจำกัดด้วย กลไกภาษีที่สนับสนุนไม่สอดคล้องก้าวตามการพัฒนา เพราะจำกัดอยู่ที่ส่งเสริมการลงทุนสร้างโรงงานซื้อเครื่องจักร แต่ยังไปไม่ถึงขั้นการส่งเสริมการสร้างเครื่องจักรโดยลดการนำเข้า ซึ่งหากพิจารณาขั้นตอนหรือกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทย สรุปง่ายๆ 3 ขั้นคือ
ขั้นต้น “เทศในไทย” : ส่งเสริมให้ต่างประเทศลงทุนในประเทศไทยเพื่อหวังดูดซับเทคโนโลยี
ขั้นกลาง “ไทยในไทย” : ส่งเสริมให้เกิด Local Content ในประเทศไทย หลังจากที่ดูดซับเทคโนโลยีมา ได้ระดับหนึ่ง
ขั้นปลาย “ไทยในเทศ” : ขั้นสุดยอดของความสำเร็จ คือผู้ประกอบการไทยสามารถดูดซับเทคโนโลยีจนสามารถพัฒนาเป็นของตัวเอง และก้าวล้ำจนอยู่ระดับเดียวกันหรือเหนือกว่าต่างประเทศ และสามารถไปลงทุนในต่างประเทศและแข่งขันได้ ดังรูปภาพที่ 1
รูปที่ 1 ระดับขั้นของกลไกส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ที่มา : นายสมบัติ สมศักดิ์ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2556
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมากจากหลายๆกลไก เช่น สิทธิพิเศษในเขตอุตสาหกรรม การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร และอื่นๆ จึงทำให้ไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นต้น แต่ทว่าไทย ก็หยุดความสำเร็จไว้ที่ขั้นต้นมานานหลายปี และยังไม่สามารถก้าวสู่ความสำเร็จขั้นกลางอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้เพราะกลไกภาษีที่ล้าสมัย เป็นกลไกภาษีที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบ “เทศในไทย” คือลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร แต่ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนกลับสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลใช้เองภายในประเทศได้ ทำให้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศ มีราคาสูงเนื่องจากต้นทุนชิ้นส่วนสูง หนำซ้ำยังไม่อาจแข่งขันด้านราคากับเครื่องจักรนำเข้าที่ปลอดภาษี ทำให้ “ไทยในไทย” ไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเสียที จะมีก็แต่เพียงบริษัทรายใหญ่ที่มีเงินทุนสูงที่สามารถกระโดดข้ามจาก “ไทยในไทย” สู่ “ไทยในเทศ” โดยการเน้นออกแบบดีไซน์เครื่องจักรกลด้วยมันสมองและความสามารถของคนไทย แต่ส่งไปผลิตที่ประเทศจีนแล้วนำเข้ากลับมาขายคนไทย ผลประโยชน์จึงไม่ตกอยู่กับคนในชาติอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรทบทวนกลไกภาษี และการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยี ในระดับขั้น “ไทยในไทย” และ “ไทยในเทศ” อย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยแนวความคิดข้างต้น การขับเคลื่อนระดับขั้นจาก “เทศในไทย” ให้ก้าวขึ้นสู่ “ไทยในไทย” เป็นแนวความคิดที่ก่อเกิดเป็นกลไกการส่งเสริมที่เป็นต้นแบบของโครงการวิศวกรรมย้อนรอย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม กลไกการสนับสนุนต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า การผลักดันและจูงใจให้เกิดการขับเคลื่อนระดับขั้นจาก “ไทยในไทย” ให้เข้าสู่ “ไทยในเทศ” จึงเกิดเป็นโครงการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า เพื่อขับเคลื่อนกลไกการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเดิมให้กลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทัดเทียมต่างชาติหรือดียิ่งกว่าเดิม และในวาระครบรอบ 10 ปี ของโครงการนี้จึงด้สรุป 99 เทคโนโลยีที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย ดังนี้
99 เทคโนโลยี จาก 10 ปี วิศวกรรมย้อนรอยภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตรืและเทคโนโลยี
1. เครื่อง 3D CNC Router 2. เครื่องโฮโมจิไนซ์ UHT 2 ขั้นตอนแบบปลอดเชื้อ ขนาด 200 ลิตร และขนาด 4000 ลิตร 3. เครื่องทอดชนิดน้ำมันท่วมแบบต่อเนื่อง 4. เครื่องบดเศษพลาสติก 5. เครื่อง CNC Machining Center 6. เครื่องเตรียมวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร 7. เครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ 3 ขนาด 8. เครื่องทดสอบห้ามล้อและเครื่องทดสอบศูนย์ล้อรถ 9. เครื่องคัดขนาดกุ้งแบบลูกกลิ้ง (Roller Grader) 10. เครื่อง CNC 5 Axis for Jewelry Industry 11. เครื่องฉีดพลาสติก (Plastic Injection Machine) ขนาด 200 ตัน 12. เครื่องอบระบบดูดความชื้น (Dehumidifier) 13. เครื่องกรองน้ำเชื่อมความดันแบบแนวตั้ง (Diastar Filter) 14. เครื่องขึ้นรูปชนิดแม่พิมพ์หมุน (Rotational Molding Machine) ขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร 15. เครื่อง Freeze Dryer เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนและเซรุ่ม 16. ชุดเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็ง (Briquetting Machine) เพื่อใช้ในกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) 17. เครื่องอัดแท่งชีวมวล 18. เครื่องบรรจุและรัดปากสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้วยยางพารา 19. เครื่องไตเทียม 20. เครื่องผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยกระบวนการไพโรไลซิส 21. เตาเผาขยะพลาสมา 22. เครื่องย่อยขยะและวัสดุเหลือใช้ขนาด 100 ตันต่อวัน 23. เครื่องตัด Pattern พร้อมซอฟท์แวร์ช่วยในการผลิต 24. เครื่องตัดด้วยลวดอัตโนมัติ พร้อมซอฟท์แวร์ช่วยในการผลิต 25. เครื่องจักรเป่าขวดพลาสติก พีอีทีและแม่พิมพ์พรีฟอร์ม พีอีที สำหรับขวด 10 ลิตร 26. เครื่องอัดก้อนเศษโลหะ 27. เครื่องวัดพิกัด 3 มิติ พร้อมซอฟท์แวร์ช่วยในการผลิต 28. การพัฒนาสร้างอินเวอร์เตอร์ในระบบควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนแบบปิด 29. ชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบชนิดประสิทธิภาพสูง 30. ระบบโรงสีขนาดเล็กสำหรับกลุ่มเกษตรชุมชน 31. ชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการผลิตชีวมวลอัดแท่ง 32. เครื่องเคลือบผิวชิ้นส่วนยานยนต์แบบ PVD 33. เครื่องอบของเหลวสุญญากาศ 34. เครื่องหีบปาล์ม ขนาด 15 ตันทะลายต่อชั่วโมง (แบบสกรูคู่) 35. เครื่องต้นแบบโรงไฟฟ้าชีวมวลแบบถอดประกอบได้ ขนาด 25 กิโลวัตต์ 36. เครื่องต้นแบบขนาดใหญ่สำหรับงานเซรามิก พร้อมซอฟท์แวร์ช่วยการผลิต 37. เครื่องแสกนฟันและผลิตฟันเทียม 38. เครื่องบรรจุหลอด พร้อมป้อนหลอดอัตโนมัติ 39. เครื่องตัดครีบ ลบคมฟันเฟือง 40. ชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากชีวมวล 41. ชุดเครื่องจักรสำหรับกระบวนการผลิตมันเส้นคุณภาพสูง 42. เครื่องฉีดพลาสติกขนาดเล็ก 43. เตาเผาไฟฟ้า (Graphite Furnance) 44. เครื่องรีไซเคิลน้ำยาหล่อเย็นอุตสาหกรรม 45. ชุดหัวเผาอัจฉริยะโดยใช้เชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ 46. เครื่องจักรเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มและรถขนถ่ายทะลายปาล์ม 47. เครื่องชงกาแฟสด 48. เครื่องปรับความถี่กระแสไฟฟ้า (Inverter แบบ Pure-Sine Wave) ใช้กับพลังงานแสงอาทิตย์ 49. เครื่องคั่วกาแฟสด 50. ชุดเครื่องจักรสำหรับเตาเผาศพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
51. เครื่องเคลือบยาด้วยน้ำตาลแบบอัตโนมัติ |
ผู้เผยแพร่บทความ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ