นำร่องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
(29 ก.ค.56) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการแถลงข่าว และเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนพื้นที่เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา” ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ณ โรงแรมดุสิต ฮอตสปริง บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีการกำจัดขยะแบบครบวงจร เพิ่มมูลค่าขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องจากศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในเรื่อง “การบริหารจัดการขยะและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้” ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อยมีความสนใจเทคโนโลยีการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT, Mechanical and Biological Waste Treatment)ประกอบกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการว่าสามารถทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสามารถต่อยอดนำไปเป็นต้นแบบ ในการนำเทคโนโลยีของไทยไปบริหารจัดการกำจัดขยะในจังหวัดพังงาและจังหวัดอื่นๆ จึงได้ดำเนินการลงนามความร่วมมือ “โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนพื้นที่เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ 3 ฝ่าย ในความร่วมมือการทำงานแบบบูรณาการจากหน่วยงานส่วนกลาง สถาบันการศึกษาและหน่วนงานท้องถิ่น ในการการทำงาน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า “โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนพื้นที่ตำบลเกาะยาวน้อย” เป็นโครงการที่มีประโยชน์มากสำหรับประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่ได้กำหนดให้มีการจัดการขยะในรูปแบบของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครบวงจรและนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะนำมาเป็นพลังงาน หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะยาวน้อยซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยต่างประเทศ เนื่องจากมีเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานจึง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดอื่นๆ ให้สามารถมาศึกษาดูงานเป็นต้นแบบนำไปเป็นแนวทางพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา ผู้อำนวยการเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางบริหารจัดการขยะชุมชน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ในเรื่องการจัดการขยะชุมชน ทั้งด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นรูปแบบของการจัดการขยะในระดับชุมชนแบบครบวงจรโดยสามารถนำมาผลิตพลังงานทดแทน และปุ๋ยปรับปรุงดิน ซึ่งได้นำมาใช้จริงในพื้นที่เพื่อจัดการกับขยะชุมชนมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด ปริมาณ 3-5 ตันต่อวัน ทำให้ขยะลดลงประมาณร้อยละ 65 โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่เหลือจะเป็นขยะจำพวกพลาสติกประมาณ ร้อยละ 30 ที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง ส่วนที่เหลือเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประมาณคาร์บอนสูง ร้อยละ 70 นำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยปรับปรุงดินได้ อีกทั้งในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่เกาะยาวน้อย เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการขยะในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
นายมานิตย์ มาตรักษา นายก อบต.เกาะยาวน้อย ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า ลักษณะพื้นที่ของชุมชนเป็นเกาะอยู่กลางทะเล มีเนื้อที่ประมาณ 46.46 ตารางกิโลเมตร หรือ 28,021.03 ไร่ ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน มีประชากร 1,611 ครัวเรือน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 99 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประมงขนาดเล็ก ค้าขาย และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวที่ตำบลเกาะยาวน้อยกว่าปีละ 10,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นการรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติบริเวณโดยรอบเกาะจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากความสำคัญในการต้องการรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของเกาะยาวน้อย แม้ว่าขณะนี้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อยจะมีการก่อสร้างโรงเตาเผาขยะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงเตาเผาขยะอยู่ก็ตาม แต่เทคโนโลยีการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ ที่กระทรวงวิทย์ฯ ได้นำมาสู้ท้องถิ่นนั้นเห็นว่ามีประโยชน์มาก สามารถนำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้ ดังนั้นทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในการจัดการสถานที่ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะชุมชน และพร้อมจะสนับสนุนงบประมาณร่วมดำเนินโครงการฯ
ทั้งนี้การจัดงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้ง 3 สามฝ่าย เพื่อร่วมมือกันดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยี การจัดการขยะมูลฝอย ด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งทางกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย ในการดำเนินโครงการ โดยจะเริ่มในเดือนสิงหาคม นี้ รวมเวลาประมาณ 12 เดือน ซึ่งการลงนามครั้งนี้มีนายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายชัยวัฒน์ ศิรินุพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดพังงา ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีในพื้นที่ภาคใต้ สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน