ในโรงงานต้นแบบการผลิตแป้งมันสำปะหลัง พบ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างมาก
(19 ก.ค. 56)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานนำร่องและโรงงานต้นแบบการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่ บริษัท ชลเจริญ จำกัด จ.ชลบุรี เพื่อนำแนวคิดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมเกือบเป็นศูนย์ (Near Zero Waste : NZW) ที่สามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงาน ในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ไปเผยแพร่ยังกลุ่มโรงงานแป้งมันสำปะหลังอื่นๆ ซึ่งอาจมีการขยายต่อไปยังโรงงานที่มีน้ำเสียในปริมาณมาก เช่น โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้จุดสำคัญคือการจัดหาแหล่งเงินทุนเต็มจำนวนให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียนี้ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุ์วิศกรรมและเทคโนโลยีชีภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.)ในปี พ.ศ. 2546 ไบโอเทค ร่วมกับสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินการวิจัย เรื่อง “การสำรวจและรวบรวมข้อมูลของการใช้น้ำและพลังงานในโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง” โดยได้นำผลจากการสำรวจและรวบรวมมากำหนดดัชนีชี้วัดมาตรฐานBenchmarking มาจำแนกตามขนาดของโรงงาน พร้อมดำเนินการ “วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยผลิตและลดการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงาน” โดยประยุกต์ใช้หลักการ Near Zero Waste (NZW) ซึ่งขณะนี้มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังนำร่อง จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท แป้งตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด /บริษัท วีพี สตาร์ช (2000) จำกัด /บริษัท เจ้าพระพืชไร่ (2999) จำกัด /บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด /บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันกาญจนชัย จำกัด และบริษัท ชลเจริญ จำกัด
ดร.วรินธร สงคศิริ นักวิจัย ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ“การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยผลิตและลดการใช้ทรัพยากร น้ำ และพลังงาน: โรงงานแป้งมันสำปะหลังนำร่อง” กล่าวว่า โรงงานนำร่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Near Zero Waste (NZW) ถือว่าเป็นการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้สูงขึ้น ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ลดการใช้ทรัพยากรเช่น น้ำและพลังงาน รวมทั้งลดการสูญเสียแป้งในกระบวนการผลิตลง ขณะที่จะให้พลังงานก๊าซชีวภาพและสามารถวนน้ำกลับมาใช้งานใหม่ในโรงงานได้ ซึ่ง บริษัท ชลเจริญ จำกัดถือเป็นหนึ่งในโรงงานต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยสกัดแป้ง เพื่อลดการใช้น้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดึงแป้งกลับ การปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยสกัดกาก เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยคัดแยก พร้อมนำแนวคิดการบริหารจัดการที่ดีไปใช้ในโรงงาน
นายนิรินทร์ ขจรเฉลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท ชลเจริญ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่บริษัทนำเอาข้อเสนอในการปรับปรุงการผลิตมาปรับใช้ ทำให้บริษัทสามารถลดปริมาณการใช้น้ำและพลังงาน การเกิดขยะและของเสียอันตรายก็มีไม่มาก รวมถึงน้ำเสียที่ต้องบำบัดมีปริมาณน้อยลง ส่งผลให้บริษัทสามารถลดค่าจ่ายได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง อีกด้วย
ทั้งนี้ ไบโอเทคได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง” เป็นระยะเวลา 3 ปี (2555-2557) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ทั้งระดับผู้บริหารและพนักงานในสายการผลิต ทำให้ปัจจุบันมีบุคลากรในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 100 คน จาก 20 โรงงาน
************************************
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จุดประกายความคิด สร้างโอกาสธุรกิจไทย
ส่งมอบผลงานวิจัย พัฒนาไทยสู่สังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ส่งข่าว นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สวทช.
โทร. ๐-๒๖๔๔-๘๑๕๐ ต่อ ๗๐๙ โทรสาร ๐-๒๖๔๔-๘๑๙๒ www.nstda.or.th , facebook nstdapr